Pages

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 26

อำนาจของการสื่อสาร ตอนที่ 1


ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากการสื่อสารไม่ได้แล้ว หากผมตั้งคำถามนี้เป็นสมการคณิตศาสตร์แล้ว เช่น X + Y = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต
ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุใดการสื่อสารมีอำนาจต่อชีวิตของเราและคนทั่วโลกอย่างไร
ในตอนแรกนี้จะเป็นการถอดสมการเพื่อพิสูจน์ถึงเหตุผลว่า "เราสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากการสื่อสารไม่ได้" ผมขออธิบายดังนี้
1. ความหมาย องค์ประกอบของการสื่อสาร และ โทรคมนาคม
2. การสื่อสาร โทรคมนาคมและเวลา
3. อำนาจการสื่อสารที่เป็นไปตามเวลา

เพลโต้ (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก เคยกล่าวว่า ยุคของมนุษย์มีสามยุค คือ ยุคแห่งความจริง ยุคแห่งความงาม และ ยุคแห่งความดี
หากสิ่งไอทีและการสื่อสาร คือความจริง เราสามารถสรรค์สร้างไอทีและการสื่อสาร นั้นให้งดงามได้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปสู่ความดี เพื่อให้สังคมโดยส่วนรวมเกิดประโยชน์ ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจความหมายของการสื่อสารและนำความจริงจากอำนาจของการสื่อสารมาสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น บทความนี้ก็ต้องการให้เดินตามความคิดของเพลโต้ ให้เข้าใจถึงความจริงบนไอทีและการสื่อสาร เพื่อประยุกต์ใช้งานให้เกิดความงาม ด้วยคุณธรรมและความดีต่อไป

องค์ประกอบของการสื่อสาร
๑. บุคคล ๒ ฝ่าย
๒. วิธีการติดต่อ
๓. เรื่องราวให้รับรู้ความหมายร่วมกัน
ความหมายของการสื่อสาร
สื่อ คือ การใช้วิธีพูด-เขียน หรือการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้รูปภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ โดยวิธีการติดต่อนั้นต้องใช้ตัวกลางต่างๆ เช่น คลื่นเสียง ตัวหนังสือ แผ่นกระดาษที่มีตัวหนังสือเขียน คลื่นวิทยุโทรทัศน์ ตัวกลางเหล่านี้เรียกว่า สื่อ โดยการสื่อสารนั้นสามารถใช้สื่อหลายๆอย่างได้พร้อมๆกัน เช่น การเรียน การสอน ต้องใช้ทั้งหนังสือ กระดาน ภาพ

สาร คือ เรื่องราวที่รับรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อเท็จจริง ข้อแนะนำ การล้อเลียน ความปรารถนาดี ความห่วงใย มนุษย์จะแสดงออกมาให้เป็นที่รับรู้ได้ การสื่อสารจะเกิดขึ้นตามกาลเทศะ และสภาพแวดล้อมต่างๆในสังคม

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร

๑. วัจนภาษา (การพูด การเขียน)
๒. อวัจนภาษา (เครื่องหมาย สัญญาณมือ)

อวัจนภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร การแสดงออกทางดวงหน้า การแสดงออกทางดวงหน้านั้นเป็นเครื่องแสดงเจตนาการสื่อสารได้หลายอย่าง เช่น ขอร้อง ขมขู่ การใช้น้ำเสียง คำพูดคำเดียวกัน เปล่งออกไปด้วยน้ำเสียงที่ต่างกัน จะสื่อความหมายต่างๆกันไปได้ ขึ้นอยู่กับความดังและเสียงสูง-ต่ำ เช่น ถ้าพูดหรือเน้นคำพูดนั้นดังๆ ก็จะเป็นการเตือนได้

แม้แต่บทความของ การสื่อสารของมนุษย์ ของ อาจารย์มารยาท ประเสริฐ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย ได้กล่าวถึงคุณธรรมของการสื่อสาร ได้อย่างสอดคล้องกับการเข้าถึง ความจริง ความงาม และ ความดีของเพลโต้ ได้ว่าคุณธรรมในการสื่อสารความมีสัจจะและไม่ล่วงละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน ความรัก ความเคารพและความปรารถนาดีต่อกัน
ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดหรือกระทำ

จะเห็นได้ว่าผมไม่ได้หมายถึงการสื่อสารที่เราเห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้นแต่เป็นการสื่อสารที่รวมไปถึงการแสดงออกที่เป็นนามธรรมด้วย ทีนี้ลองมาดูความหมายของการสื่อสารและเทคโนโลยีกันบ้าง

ในบทสารานุกรมโทรคมนาคมไทยได้เขียนไว้ว่า
" ข่าวสารหรือสิ่งที่มนุษย์ต้องการที่จะสื่อสารให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลได้รับรู้นั้นในอดีตก่อนที่จะได้มีการพัฒนาระบบโทรคมนาคม การนำส่งสารดังกล่าวกระทำได้ด้วย“ผู้นำสาร(Messenger/Courier)” ที่จะนำเอาข่าวสารไปส่ง อาจจะด้วยการเดินเท้า หรือคมนาคมอื่น ๆ เช่นนำส่งด้วยยานพาหนะหรือสัตว์ที่มีอยู่ในแต่ละยุคสมัยทั้งทางบกและทางน้ำ จนกระทั่งมนุษย์ได้พัฒนา “สื่อ” ธรรมชาติที่สามารถเตรียมข่าวสารให้ส่งได้รวดเร็วขึ้นกับระยะทางที่อยู่ห่างไกลของผู้รับด้วยการส่งสัญญาณไฟ ควัน หรือสัญญาณเสียงต่าง ๆ ซึ่งเป็นสื่อที่เดินทางไปได้ไกลหรือผู้รับสามารถได้ยิน มองเห็นหรือสังเกตได้จากระยะไกล แต่ระยะทางที่สื่อสารได้ก็ยังคงจำกัด ตั้งแต่อดีตกาล จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นที่เด่นชัดว่า ภาวะสงคราม เป็นสาเหตุหลัก ที่ขับดันให้มนุษย์ คิดค้นวิธี ที่จะจัดส่งข่าวสาร ให้ได้รวดเร็วที่สุด เนื่องจาก “สื่อ” ที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา มีความสามารถและระยะทางที่สื่อสารได้อย่างมีขอบเขตจำกัด เช่น สัญญาณไฟ มีข้อจำกัดการใช้งานเฉพาะช่วงเวลากลางคืน หรือในช่วงทัศนวิสัยที่เหมาะสม รวมถึงสัญญาณควันที่คล้ายคลึงกัน ส่วนสัญญาณเสียงจากกลอง แตร หรือต้นกำเนิดเสียงร่วมสมัยอื่น ๆ นั้นก็มีระยะทางที่ผู้รับจะสังเกต หรือได้ยินที่จำกัดเช่นกัน ในที่สุดมนุษย์ จึงได้คิดค้นต่อยอด ในการขยายระยะดังกล่าวนั้นออกไป ด้วยการสร้างประภาคารเพื่อส่งสัญญาณดังกล่าว (ไฟและควัน) ให้ได้ไกลขึ้นหรือสังเกตได้จากระยะที่ไกลขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นระบบการสื่อสารแรกของมนุษย์ ที่เกินขอบเขตปกติของ “สื่อ” ที่สร้างได้จากธรรมชาติ โดยที่อยู่บนพื้นฐาน ของการสื่อสารเชิงแสง ( Optical Communication สื่อสารด้วยสัญญาณเชิงแสงลักษณะนี้ได้กลายเป็นระบบโทรคมนาคมระบบแรก"

ความหมายของโทรคมนาคม
ความหมายที่มีต่อคำว่า “โทรคมนาคม (Telecommunication)” ได้รับการนำเสนอไว้ในแหล่งข้อมูลหรือจากการนิยามของผู้รู้และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิค ประวัติศาสตร์และภาษาจำนวนมาก เช่น

1) คำว่า “โทร” มีพื้นฐานมาจากคำว่า “tele” ในภาษากรีก หมายถึง “ไกลออกไป (far away)” และคำว่า “คมนาคม (Communication)” มาจากภาษาละตินพื้นฐานของคำ “Communicare” หมายถึงการใช้งานร่วมกับผู้อื่น ความหมายรวมพื้นฐานจึงได้รับการนำเสนอว่าการสื่อสารที่ครอบคลุมระยะทางที่ไกลออกไป

2) จากคำศัพท์มาตรฐานของสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(Institute of Electrical and Electronics Engineers)ให้คำนิยามโทรคมนาคมว่า การสื่อสัญญาณระยะทางไกลเช่น โดยใช้โทรเลข วิทยุหรือโทรทัศน์ เป็นต้น

3) พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปีพ.ศ.๒๕๔๒ ระบุว่า “โทรคมนาคม” หมายถึง การส่ง การกระจาย หรือการรับภาพ เครื่องหมาย สัญญาณ ข้อเขียน เสียง หรือการกระทำให้เข้าใจด้วยวิธีใด ๆ โดยอาศัยระบบสาย วิทยุสื่อสาร หรือระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ

4) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ได้ให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อคำว่าโทรคมนาคมในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. 1932) ว่า “การสื่อสารใด ๆ ไม่ว่าจะด้วยโทรเลขหรือโทรศัพท์ เพื่อส่งสัญลักษณ์ สัญญาณ ข้อความ ภาพและเสียงใด ๆ ทางสายส่ง คลื่นวิทยุ หรือระบบอื่น ๆ หรือกระบวนการส่งสัญญาณทางไฟฟ้าหรือการมองเห็น (เสาส่งสัญลักษณ์) ต่างๆ

5) คำว่า “Telecommunication” ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเป็นทางการ โดยพื้นฐานมาจากหนังสือของเอดวาร์ด เอสโทนี (Edouard Estaunie) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๔๘๕ (คศ. 1862-1942) โดยหนังสือดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส “Traité pratiqus de télécommunication electrique (télégraphie-téléphonie)” ซึ่งได้นิยามความหมายของคำว่าโทรคมนาคมไว้อย่างมีข้อจำกัดคือ “การแลกเปลี่ยนข่าวสารด้วยสัญญาณทางไฟฟ้า (Information exchange by means of electrical signals)” อันเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นหลักสำหรับระบบการสื่อสารในสมัยนั้น

6) คำจำกัดความที่เด่นชัดของการรวบรวม“ประวัติโทรคมนาคมโลก(The Worldwide History of Telecommunications)”โดยแอนทัน ฮวร์ดเดอร์มัน (Anton A. Huurdeman) นิยามให้โทรคมนาคมคือ “เทคโนโลยีแขนงหนึ่งซึ่งใช้ช่วยลดระยะทางระหว่างทวีป ประเทศ หรือระหว่างบุคคล”

ส่วนหนึ่งของคำจำกัดความเรื่องโทรคมนาคม และการสื่อสาร ซึ่งอ่านคำจำกัดความทั้งหมดได้ที่
สารานุกรมโทรคมนาคมไทย

จากความหมายของคำว่าโทรคมนาคมทั้งหมดดังกล่าว เกิดจากความคิดที่จะกำหนดหรือนิยามอันอยู่บนพื้นฐานของสองมูลเหตุหลัก คือ ทางด้าน “ภาษาศาสตร์” ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดของคำในภาษาท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าของสังคมนั้น ๆ ที่อาจแตกต่างกันไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละสังคมและภาษาทั่วไปได้ให้ความหมายถึงนัยที่คล้ายกัน รวมทั้งประเด็นของมูลเหตุ “เทคโนโลยีร่วมสมัย” ที่ปรากฏมีใช้อยู่ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้ความหมายของ “โทรคมนาคม” อาจต้องปรับตามให้ทันสมัยต่อมาในภายหลังด้วย (เช่น ความหมายจาก จ) ที่ยังมิได้รวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่กว่าเข้าไปด้วย) โดยรวมแล้วของความหมายทั้งทางด้าน “ภาษา” และ “เทคโนโลยี” ดังกล่าวนี้สามารถนำมาพิจารณาร่วมกันให้ครอบคลุมทั้งทางด้านภาษา พื้นฐาน ความหมายและเทคโนโลยีร่วมสมัยหรือเทคโนโลยีที่ได้รับการคาดการณ์สำหรับประยุกต์ใช้กับระบบโทรคมนาคมแล้วด้วย
ดังนั้นสารานุกรมโทรคมนาคมไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ นำเสนอความหมายของคำว่า “โทรคมนาคม” คือ
การสื่อสารที่ช่วยลดระยะทางระหว่างบุคคลอุปกรณ์หรือระบบอัตโนมัติที่สร้าง ขึ้นเพื่อใช้สำหรับการส่งแพร่กระจายหรือนำพาด้วยวิธีการทางกลไฟฟ้า แสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ทางควอนตัม สำหรับการสื่อสัญญาณ สัญลักษณ์ ข้อความ เสียง ภาพหรือสื่อประสมให้ผู้รับหรือระบบสามารถเข้าใจได้

ทั้งหมดที่กล่าวขั้นต้นนั้นคือความหมายของโทรคมนาคม การสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เรามีความผูกพันธุ์กับการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ

เรามามองในแง่ การสื่อสาร กับเวลา บ้าง
ความหมายของเวลา จากบทความของผ.ศ.สดชื่อ วิบูลยเสข เรื่องเจาะเวลา หาเวลา ได้ให้ความหมายเวลา ว่า "เวลาเป็นมิติที่สี่เทียบเท่ากับมิติทั้งสาม(-กว้าง -ยาว-ลึก)ของอวกาศ (space) โดยการคิดเช่นนี้ กาลวกาศทั้งสิ้นทั้งปวงจะสามารถแสดงได้ด้วยแผนที่กาลวกาศสี่มิติ ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของเอกภพจะปรากฏอยู่บนแผนที่กาลวกาศนี้ทั้งหมด นั่นคือความหมายของเวลาในฟิสิกส์ซึ่งไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ"

คนทุกคนมีความหมายของเวลาในบริบทของตนเอง ทุกคนรู้ว่าเวลาคืออะไร แต่ไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ หากถามนักฟิสิกส์ จุดที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับเวลาคือ เวลาเป็นระบบอ้างอิงที่ใช้เรียงลำดับก่อนหลังของการเกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์หนึ่งมาก่อนอีกเหตุการณ์หนึ่งในระบบนี้ ถึงแม้การกล่าวเช่นนี้จะสามารถนิยามลูกศรแห่งเวลาได้ แต่ก็ไม่มีกฏเกณฑ์ใดเลย ที่บ่งบอกว่าเวลาผ่านจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและไปสู่อนาคต เวลาทั้งหลายมีสถานภาพทัดเทียมกัน
เช่นเดียวกับท่านพุทธทาสได้กล่าวเทศนา เรื่องธรรมะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ทุกรูปแบบ ก็ได้กล่าวถึงความหมายของเวลา เช่นเดียวกัน

แล้ว เวลาเกี่ยวอะไรกับการสื่อสาร ?
ยอมรับว่า คำว่าล้าสมัย เกิดขึ้นเร็วมาก ในยุคที่มีการก้าวหน้าด้านการสื่อสาร ไม่ว่าเป็นเครื่องพิมพ์ดีดกลายเป็นอดีตเครื่องมือหลักของนักเขียนไส้แห้ง หรือใช้เป็นการสื่อสารให้กับผู้อื่นได้อ่านรับทราบข้อมูล หรือจะเป็นโทรเลข (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอำลาโทรเลข http://nontawattalk.blogspot.com/2008/04/blog-post_29.html ) หรือโทรศัพท์หยอดเหรียญ หรือจะเป็นเพจเจอร์ ที่ร้องเตี๊ยดๆ ตลอดในช่วงเวลาสิ้นปีขึ้นวันใหม่ของปีใหม่ และใช้ในการนัดหมายกันในอดีตแทนมือถือนั้นราคาแพง ผมยังทันบรรยากาศ สิ่งของดังกล่าวที่ว่าเป็นเรื่องล้าสมัยนั้น

ความล้าสมัยเกิดขึ้นได้จาก เวลา และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งบทความนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยได้เช่นกัน เมื่อเวลาได้ดำเนินเดินทางต่อเนื่องไปนับจากนี้

ความล้าสมัยจะเห็นได้ชัด ในไอที โดยเฉพาะโลกอินเตอร์เน็ต ผมสังกตเห็น เทคโนโลยีบางอย่างกลายเป็นของหายากและสูญพันธ์ไป ยกตัวอย่าง รูปแบบของเว็บเพจ เมื่อก่อนเป็นแบบเว็บนิ่ง (Static Web Site)ข้อมูลต้องเพิ่มเองจากผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster) มาไม่กี่ปี เว็บไซต์สมัยนี้เรียกว่า web 2.0 ที่ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับข้อมูลบนเว็บไซต์ได้ จนกลายเป็นสังคมเครือข่ายเสมือน (Social Network) ความล้าสมัยยังรวมไปถึงไวรัสคอมพิวเตอร์ หากผู้ดูแลระบบคนใดเคยคุมระบบในช่วงปี 2001 คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักไวรัสที่แพร่กระจายตัวเองได้ หรือ เรียกว่า หนอนคอมพิวเตอร์ (worm) ที่ชื่อ Nimda ซึ่งถ้ากลับคำใหม่ ก็คือคำว่า Admin นั้นเคยสร้างความเสียหายจนระบบเครือข่ายทั่วโลกแทบใช้การไม่ได้ ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน ภัยร้ายจากไวรัสหนอนคอมพิวเตอร์ Nimda ก็กลายเป็นเพียงแค่อดีต หากเป็นยุคนี้ก็ต้องบอกว่า Nimda ได้หายสาบสูญไปแล้ว คงเป็นเรื่องตลกแย่หากมีคอมพิวเตอร์ที่บริษัทติดไวรัส Nimda อยู่
เทคโนโลยีพวกนี้อาจใช้ได้กับเมื่อมีสิ่งหนึ่งที่ดีกว่าเร็วกว่าสนองตอบได้ดีกว่า สิ่งเดิมที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นของล้าสมัย

เวลากับสื่อ (Media Time) ตอนหนึ่งในหนังสือ Revolution Wealth ความมั่งคั่งปฏิวัติ แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล
กล่าวว่า สื่อที่มาตามเวลานั้นตายไปหมดแล้ว สื่อทุกวันนี้ต้องเป็นสื่อที่คนอยากดูเมื่อไหร่ก็ต้องได้ดู เรียกว่าการบริโภคสื่อตามใจฉัน เบ็ตซี แฟรงก์ (Betsy Frank) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวางแผนของ MTV Networks บอกว่า "นี่คือผู้ชมที่อยากทำตารางดูทีวีของตัวเอง" ตอนนี้มีเครื่องมือใหม่ๆ ที่มอบอำนาจให้ผู้ชมสามารถตัดต่อบางส่วนของรายการทีวีให้สอดคล้องกับรสนิยมของตัวเอง ในขณะเดียวกันกับที่ผู้ชมผลิตเนื้อหาเอง พวกเขาก็เรียกร้องให้สามารถเข้าถึงรายได้แบบ "ตามใจตัวเอง"
ศูนย์ข่าว CNN มีนาฬิกาบอกเวลา เพียงเข็มเดียว คือเข็มนาที และผู้ประกาศข่าวไม่กล่าวคำว่า อรุณสวัสดิ์ ไม่กล่าวคำว่า ราตรีสวัสดิ์ ไม่มีคำว่า ลาก่อน หรือ พบกันใหม่ แต่พวกเขาจะกล่าว ว่า ขอต้อนรับเข้าสู่ข่าว เป็นเช่นนี้ตลอด 24 ชั่วโมง
ผมขอยกตัวอย่างสื่อในอดีต เราต้องตั้งหน้าตั้งตารอดูรายการต่างๆ ตามกำหนดเวลาที่จัดตั้งไว้ เช่น รายการนี้แสดงตอน 3 ทุ่มเราต้องทำธุระต่างๆให้เสร็จก่อน 3 ทุ่มถึงจะดูรายการนั้นได้ ปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสาร ได้เปลี่ยนโลกนี้ไปให้หยิบสื่อได้สะดวกขึ้นหากเราเข้าสู่ ไอ ที ในโลกอินเตอร์เน็ต ผมขอยกตัวอย่างเช่น Youtube
ซึ่งตัวอย่าง Youtube เห็นได้ชัดถึงวิถีทางการเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ได้ชัดเจน วูบหนึ่งในความคิด เราคิดถึงการชกมวยของนักชกผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย คือ เขาทราย กาแล็คซี่ ผมอยากดูการชกมวยของเขาทราย ก็แค่พิมพ์เขาทรายใน youtube เราก็สามารถดูอดีตที่เขาทรายได้ชกกับคู่ต่อสู้ได้ เกือบทุกไฟล์ เพลงบางเพลงที่เราหาฟังจากดีเจ ไม่ได้ (ดีเจ สมัยนี้อาจจะอยู่ข้างบ้านคุณก็ได้ ที่กำลังเปิดเพลงสนั่นหวั่นไหวในยามคำ่คืน ผ่านโปรแกรม Camfrog เรียกร้องให้คนฟังร่วมสนุกผ่านจอคอมพิวเตอร์) ถึงแม้ที่บ้านจะมีเทปเพลงชุดนี้ แต่เทปคลาสเซ็ตที่ขึ้นรา นั้นไม่สามารถฟังได้ หากเราต้องการฟังเดี๋ยวนั้น เราทำได้ผ่านสื่อที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต เช่นผมต้องการฟังเพลง ดีใจ ของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ชุด แดนศิวิไลซ์ ผมค้นหาใน Youtube ก็มีคนนำเพลงนี้มาเปิดให้ฟัง หรือเพลงอื่นๆ ก็สามารถค้นหาใน imeem หรือ ijigg นึกง่ายๆ ว่าอยากรู้อะไรเราเพียงพิมพ์ข้อมูลลง Google ก็ได้ตามที่ใจเราต้องการอินเตอร์เน็ตกลายเป็นระบบสื่อสารที่คลุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ของมนุษย์ ทั้งคำว่า ตามใจตัวเอง และ เร็ว เร็ว และ เร็ว ทำให้วิถีชีวิตคนยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแปลง นี้กระมั่งที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กยุคไอที มีความอดทนต่ำต่อสิ่งเล้าภายนอก และเป็นค่าตัวแปรหนึ่งที่พิสูจน์ถึงอำนาจของการสื่อสาร ที่ผมพยายามพิสูจน์สมการนี้ให้เห็นภาพมากขึ้น

ตัวแปรที่สำคัญคือเวลา นั่นเอง เวลาทำให้โลกดูเหมือนหมุนเร็วขึ้น ทำให้ชีวิตคนเราอะไรต่อนี้อะไรได้มากขึ้น เป็นนักผจญภัยโดยส่องกล้องทางไกลผ่าน Google Earth หรือ Google Maps ก็สามารถเห็นสถานที่ที่เราต้องการได้เพียงเสี้ยววินาที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปถึงสถานที่จริงนั้นเลย หากลองย้อนเวลาเปลี่ยนเทียบไปสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในสมัยที่ก่อสร้างนครวัดขึ้น การกระจายข้อมูลข่าวสารให้ผู้คนมาร่วมแรงร่วมใจเพื่อสร้างศาสนสถานคงใช้เวลานาน และใช้ความอดทนอดกั้นสูง บวกกับแรงศรัทธา ความเชื่อ ซึ่งส่งผลให้จิตวิญญาณของคนสมัยยุคก่อนแข็งแกร่งกว่าคนยุคใหม่ เช่นเราๆ ท่านๆ ถึงแม้ยุคสมัยนี้มีการก้าวหน้าระบบสื่อสารไปมาก ทำพวกเราไปได้ไวและเร็วกว่า คนในยุคเก่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการกระจายข่าวเพื่อให้คนทั่วไปทราบนั้นก็ขอเพียงยึดสื่ออินเตอร์เน็ตให้ได้ ก็สามารถใช้กลยุทธกระจายข่าวโดยใช้เครื่องมือ เช่น Yahoo marketing solutions หรือ Google Adwords มาช่วยกระจายข่าวให้ ทำงานแทนนักการตลาดที่ค่าจ้างสูง ก็สามารถกระจายข้อมูลนั้นให้คนทั่วไปรับรู้ได้ แทบยังทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีพัก ไม่มีบ่น เป็นเครื่องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ชั่งเป็นคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ จะหยุดกระจายข่าวก็ต่อเมื่อ เงินในกระเป๋าเราจะหมดเสียก่อน
ในเรื่องที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ ก็สามารถถูกกระจายข่าว และเป็นข่าวดังได้ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่มีคลิปวิดีโอหลุด ไปในโลกของการสื่อสาร ข้อมูลที่ไม่ต้องการให้เผยแพร่ก็ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป คนส่วนใหญ่ที่ยังขาดการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต เพียงทำการบันทึกข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านช่องทาง Webcam ที่ติดอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ ภาพส่วนตัวเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นคนดังระดับประเทศ หรือ เด็ก ป. 3 ก็สามารถเป็นข่าวได้ และไม่นานนักสังคมอินเตอร์เน็ตก็ได้ทำการกระจายข้อมูลแบบคุมไม่อยู่จน ชื่อ คลิปหลุดเหล่านั้นกลายมาเป็น Keyword หลักในการค้นหาผ่านระบบค้นหาทางอินเตอร์เน็ตในเวลาต่อมา (ดูสถิติคำที่ค้นหาได้จาก http://zemog.sran.org) การกระจายข่าวในสื่ออินเตอร์เน็ต นี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่คนยุคนี้ตกเป็นเหยื่อของอำนาจการสื่อสาร ซึ่งด้วยเหตุนี้เองสังคมออนไลท์จึงสังคมที่ควบคุมยากเป็นความจริง ที่ขาดความงดงาม และความดี ตามแนวคิดของเพลโต้ไปโดยปริยาย ..

บทความของคุณเปลวสีเงิน ในบทความชื่อ อะไรคือผู้ทรงอำนาจเปลี่ยนประเทศ ซึ่งจะเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนถึงอำนาจของการสื่อสาร
"ตัวการสำคัญ" ที่จะเปลี่ยนสังคมไทยก็คือ IT = Information and Communication Technologies หรือเรียกกันว่า "เทคโนโลยีการสื่อสาร และการสนเทศ" นั่นแหละ! ระบบ ไอที ที่เรามองข้ามความสำคัญ และนึกไม่ถึงในพลานุภาพเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนโครงสร้างสังคมนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่จะ "เปลี่ยนแปลงประเทศไทย" หรือพูดให้ตรงที่เป็นจริงอยู่แล้วในปัจจุบันคือ "ไอที-เป็นตัวเปลี่ยนโลก" สำหรับประเทศที่หมุนตามโลกแบบ "หลง" โลก

เมื่อก่อนเราเคยได้ยินคำพูดประโยคหนึ่งใช่ไหมว่า "ใครยึดไมค์ได้ เท่ากับยึดประเทศ" นั่นเป็นคำพูดสะท้อนบทบาท-อิทธิพลของสื่อที่มีต่อสังคมชาติในแต่ละยุค-แต่ละ สมัย ยุคก่อนๆ ที่โลกยังไม่มีคอมพิวเตอร์ เราจะเห็นว่าบ้านเราปฏิวัติกันทีไร สิ่งแรกที่ต้องยึดคือ "กรมประชาสัมพันธ์"

ใครยึดกรมประชาสัมพันธ์ คือยึดไมค์ ออกแถลงการณ์ทางวิทยุได้ ก็ถือว่าชนะ ยึดประเทศได้แล้ว!

ทุก วันนี้ เป็นสังคมยุคไอที ถึงยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี ไม่เปลี่ยน แต่รูปแบบเปลี่ยนจากยึดไมค์-กรมประชาสัมพันธ์ ไปเป็นยึดจอ คือยึดสถานีโทรทัศน์ และควบคุมสถานีดาวเทียม

ถ้าไล่เรียงดู จะเห็นชัดว่า "สื่อ" คืออุปกรณ์สำคัญในการยึดประเทศ เปลี่ยนแปลงประเทศ สมัยกบฏ ร.ศ.๑๓๐ การกบฏเพาะเชื้อและแพร่ระบาดจากสื่อหนังสือพิมพ์ เช่น จีนโนสยามวารศํพท์ เป็นต้น การเปลี่ยนการปกครอง ๒๔๗๕ ภารกิจสำคัญที่ "นายควง อภัยวงศ์" ได้รับมอบจากคณะก่อการให้ไปปฏิบัติ คือ

ไปตัดสายตะแล็บแก๊บที่ "ไปรษณีย์กลาง" บางรัก!

ยุค ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา พัฒนามายึด "สถานีโทรทัศน์" เป็นหลักแทนกรมประชาฯ แต่พอมาถึงยุคพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ จะเห็นชัดว่า ไอที เป็นตัวการใหญ่ในการโค่นล้มรัฐบาลสุจินดาขณะนั้น จนเรียกการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นว่า "ม็อบมือถือ" เพราะผู้มาชุมนุมอันเป็นคนชั้นกลางส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร คือโทรศัพท์มือถือประสานงาน และระดมกำลังจนพบความสำเร็จ

พูดไปก็ยาว สรุปถึง ณ ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีสื่อสารทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ "อินเตอร์เน็ต" คือตัวการใหญ่ "ผู้ทรงอิทธิพล" ในการเปลี่ยนแปลง "ทุกรูปแบบ" และ "ทุกระบบ" ในสังคมไทย โดยที่ไม่ว่า "อำนาจไหน" จะใหญ่-จะเล็กอย่างไร ก็มิอาจสกัดกั้นอิทธิพลของไอที-อินเตอรเน็ตในการเปลี่ยนสังคมประเทศครั้งนี้ไปได้

หนังสือ Third wave แปลเป็นไทยว่า คลื่นลูกที่สาม แต่งโดย อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) ได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติโลก ที่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของมนุษยชาติไว้ โดยเปรียบเป็นทฤษฎีคลื่นสามลูก โดยเฉพาะคลื่นลูกที่สามกล่าวได้ถึงอำนาจแห่งการสื่อสารได้เป็นอย่างดี

คลื่นลูกที่สาม (Third Wave) เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ด้วยการปฏิวัติ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งได้เริ่มต้นราวๆ ปี 1955 ด้วย เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายโทรคมนาคม จนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ดังในโลกยุคปัจจุบันที่เรียกกันทั่วไปว่า เป็นคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) หรือการปฏิวัติ “การสื่อสารโทรคมนาคม” หรือยุคโลกาภิวัฒน์ สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศใด ให้มีความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองจะขึ้นอยู่กับการมี “เครือข่าย ทั้งเครือข่ายแท้และเครือข่ายเทียม อาทิเช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เครือข่ายดาวเทียม เครือข่ายใยแก้วนำแสง ถนน สายการบิน รางรถไฟ เป็นต้น ถือเป็นเครือข่ายแท้ในการสร้างความเจริญให้บ้านเมือง เครือข่ายเทียม อาทิเช่น เครือข่ายลูกค้า เครือข่ายการค้าต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายแท้จะช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ครือข่ายเทียมเติ บโตขึ้น ตลอดจนสนับสนุนงานความมั่นคงของชาติให้มีศักยภาพสูงขึ้นโดยรวม กล่าวสรุปคือ “เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูง” ที่มีประสิทธิภาพสูงจะสร้างให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของประเทศในทุกด้าน

จากหนังสือ The World is Flat ก็กล่าวการที่โลกปัจจุบันมีข้อจำกัดต่างๆ มีการผสมรวมกัน (integrate) มากขึ้น อาจเปรียบเทียบได้กับโลกที่ถูกกดให้แบนด้วยแรงต่างๆ ในช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้อธิบายได้เหมือนกันกับ Third Wave แต่ด้วยเวลาทำให้นักพยากรณ์อนาคตศาสตร์ อย่าง อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ได้มองไม่เห็นในสิ่งที่ โทมัส แอล ฟรีดแมน เห็นโดยเฉพาะ

การประสานกัน 3 ประการ (Triple Convergence) ที่เอื้อความสามารถในการแข่งขันให้ปัจเจกบุคคล โดยเกิดจากอำนาจของการสื่อสาร

- การผสานรวมกันของ เทคโนโลยี workflow software และ hardware กระทบสำคัญของ Convergence I นี้คือการเกิดขึ้นของสังคมเศรษฐกิจของโลกไร้พรมแดน ที่มีระบบอินเตอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดการร่วมมือกัน (ทั้งการแบ่งปันความรู้ และการทำงาน) ของปัจเจกบุคคลหลากหลายรูปแบบ ได้ในเวลาเดียวกัน (real time) โดยปราศจากอุปสรรคทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ระยะทาง หรือกระทั่ง (ในอนาคตอันใกล้นี้) ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่า นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจน ประการหนึ่งที่ว่าโลกกำลังแบนลง

- การนำการผสานของเทคโนโลยี มาประยุกต์เข้ากับวิธีการทำงาน ทำให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่เพิ่มผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้น ซึ่งทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี และวิธีการทำงานต่างก็มีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน นั่นคือ วิธีการทำงานใหม่ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการเทคโนโลยีได้มากขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆได้หลากหลายขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าสายการบังคับบัญชา (chain of command) สำหรับการปฏิบัติงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้เปลี่ยนแปลงจากแนวตั้ง ที่เน้นการสั่งการและการควบคุม (command and control) ไปเป็นแนวนอนที่เน้นการร่วมมือกัน (connect and collaborate) มากขึ้น

- การที่ประชากรในประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา และเอเชียกลาง รวม 3 พันล้านคน มีโอกาสร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้ง 3 ประสาน (triple convergence) ร่วมกันแล้วจะพบว่า โลกปัจจุบันมีสิ่งกีดขวาง ในการดำเนินกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมน้อยลง ทำให้ประชากรจากส่วนต่างๆของโลกที่แต่เดิมมีโอกาสน้อยกว่าประชากรของประเทศ อุตสาหกรรมดั้งเดิม มีโอกาสแข่งขันในเวทีโลกมากขึ้น โดยอาศัยกระบวนการ การร่วมมือกันและเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นแรงสำคัญที่มีส่วนกำหนดลักษณะของสังคมเศรษฐกิจของโลก ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับโลกที่เล็กลงและไร้พรมแดนนี้ ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตว่า มีมานานแล้ว คือ อย่างน้อยตั้งแต่ผลงานของ Karl Marx and Friederich Engels ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Communist Manifesto ในปี 1848 ผลงานดังกล่าว แม้จะมีความแตกต่างจากความเห็นของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อยู่บ้าง แต่ก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกล่าวถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีและเงินทุน ที่สามารถทำลาย สิ่งกีดขวาง พรมแดน ความขัดข้องต่างๆ ของระบบการค้าในระดับโลกโดยรวม

รายละเอียดอ่านได้เพิ่มเติมที่

http://nontawattalk.blogspot.com/2008/05/blog-post.html

http://nontawattalk.blogspot.com/2008/05/blog-2.html

เนื่องจากเวลาหนังสือ คลื่นลูกที่สามของอัลวิน ทอฟฟเลอร์ เขียนเมื่อปี 1980 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี Google ไม่มีการขยายตัวสื่อสารอินเตอร์เน็ตเหมือน กับ โทมัน แอล. ฟรีดแมน เขียนเมื่อปี 2004 ซึ่ง ฟรีดแมน ตอนที่เขียน The World is Flat ก็ไม่ทราบได้ว่าในปี 2008 จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้จากการที่โลกย่อส่วนและเชื่อมโยงกันหมด จึงกระทบเป็นลูกโซ่เช่นนี้ ดังนั้น เวลา เป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดไม่ว่าเป็นมนุษย์หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร

อำนาจที่เป็นไปตามเวลา เป็นความเห็นพ้องกันแล้วว่าการสื่อสารคืออำนาจ เมื่อเวลาเป็นแปรหนึ่งแล้ววิวัฒนาการของมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้อยู่เหนือกฏเกณฑ์ธรรมชาติ เปลี่ยนห่วงโซ่ที่แตกสายที่หาปลายทางมิได้การคิดจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งไปยังกลุ่มหนึ่ง (จาก Social Networking พัฒนาเป็น Knowledge Based Society ก้าวเข้าสู่ Post Knowledge Based อ่านรายละเอียดได้ที่ http://nontawattalk.blogspot.com/2008/06/open-to-open.html) ได้เกิดการประยุกต์ขึ้นจนเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้หาคำตอบทางกายภาพได้เกือบหมดแล้ว เรารู้แม้กระทั่งองค์ประกอบภายในของไส้เดือน แม้แต่ลงลึกถึงการถอดรหัสโคโมโซมมนุษย์ หรือขนาดเล็กลงไปจนถึงระดับอะตอม แต่ด้วยการที่มนุษย์มีข้อจำกัดในการรับรู้ คนหนึ่งคนสามารถรับรู้ได้ทั้งหมดไม่ได้ Wikipedia เป็นตัวอย่างที่ดีในการรวบรวมความรู้แบบเปิด ให้คนทั่วทุกมุมโลกได้แก้ไขข้อมูล ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปี Wikipedia กลายเป็น สารานุกรมเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกไปเสียแล้ว ได้ปฏิวัติความจริงที่ว่ากำแพงเมืองจีนจะสามารถสร้างเสร็จได้ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี หรือสร้างเมืองนครธม และ ปราสาทบายน ในกัมพูชาใช้เวลาร่วมร้อยปี การรวบรวมข้อมูลทั่วโลกที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน แบบ wikipedia หรือ youtube ศูนย์รวมคลิปวิดีโอทั่วโลก กลับทำให้ข้อมูลมหาศาลนั้นสามารถค้นคว้าได้ในชั่วชีวิตคนหนึ่งคนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเทคโนโลยี และอำนาจของการสื่อสารนั้น เป็นไปตามความจริง ความงาม และเกิดความดีตามที่เพลโต้กล่าวได้หากเกิดความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคมในเป้าหมายเดียวกัน การมีน้ำใจของชุมชนออนไลท์จะกลายเป็นงาม และความดีต่อไปได้ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นตัวแปร เวลาก็มีเงื่อนไขตามจังหวะชีวิตของแต่ละคน บนขีดจำกัดในการรับรู้ ถึงแม้การใช้ชีวิตของเราดูเหมือนเร็วขึ้น แต่เวลายังคงเดินทางแบบคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และเวลาก็ไม่เคยทิ้งความจริงอันปรากฏที่อยู่เบื้องหน้าของเราล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ

ประกอบสนับสนุนแนวคิดนี้ จาก
หนังสือ บทสารานุกรมโทรคมนาคมไทย
หนังสือ Revolution Wealth
หนังสือ Third wave
หนังสือ The World is Flat
บทความของคุณเปลวสีเงิน
บางส่วนจากพระพุทธทาส เทศนาธรรมะกับวิทยาศาสตร์ ปี 2521
ผ.ศ.สดชื่อ วิบูลยเสข เรื่องเจาะเวลา หาเวลา
การสื่อสารของมนุษย์ ของ อาจารย์มารยาท ประเสริฐ
การเข้าถึงสิ่งสูงสุด ความจริง ความงาม ความดี ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น