Pages

วันพุธ, เมษายน 30

อำลาโทรเลข


"ปีค.ศ. 1864 ใกล้จะสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของอเมริกา ยูลีซิส เอส. แกรนด์ (ค.ศ.1822-1885)ผู้บังคับบัญชากองทหารฝ่ายเหนือได้ใช้ โทรเลข ติดต่อสื่อสารกับกองทหารที่ตั้งค่ายอยู่ห่างไกลจนชนะทหารฝ่ายใต้ได้ในที่สุด แกรนด์ตระหนักว่า ข่าวสารทางโทรเลขมีผลต่อชัยชนในครั้งนี้"

คุณอาผม เคยบอกผมว่า มี 3 อย่างที่เอาคืนมาไม่ได้
1. คำพูด
2. ลูกกระสุน
3. เวลา

และเวลานี้แหละ ในชั่วชีวิตของเราเอง ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย และสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็น บางครั้งเป็นที่นิยม บางครั้งก็ไม่นิยม และสลายไปตามกาลเวลา

เมื่อปีที่แล้ว ผมเข้าไปส่งของที่ไปรษณีย์ พบหญิงสาวคนหนึ่งกำลังขอใช้บริการโทรเลข ผมนึกในใจว่า "สมัยนี้ยังมีคนใช้อยู่อีกเหรอ" แต่อีกใจหนึ่ง ก็มองว่า ก็น่ารักดี ไปอีกแบบ เหมือนเราได้ย้อนเวลากับไปในอดีต มีความพิถีพิถันในการส่งข้อความที่กระชับ และเข้าใจง่าย ให้กับผู้รับสาร ได้รับทราบ

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 51 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะได้ส่งโทรเลขกัน และวันนี้เองผมติดสอนที่ กสท โทรคมนาคม พอดี ในช่วงพักทานอาหาร พวกเราได้สนทนากันเรื่องโทรเลข มีผู้ช่วยสอนท่านหนึ่งบอกว่า "รู้หรือเปล่าว่าในการส่งโทรเลข ที่ส่งข้อความสั้นที่สุดคืออะไร" สำหรับคนที่เคยทำงานอยู่ช่วงนั้น ก็คงจะพอตอบได้ แต่สำหรับผมถือว่าเป็นความรู้ใหม่ คำที่สั้นที่สุดในการส่งโทรเลข คือ 1 นี้เอง
ส่งแค่หมายเลข 1 แล้วจะรู้ความหมายกันหรือ ? คนที่อยู่ช่วงโทรเลขนิยมใช้ รู้กันครับ ว่านั้นคือสัญลักษณ์เพศชาย
เมื่อกาลเวลาได้ผันผ่านไป มาในปี 2551 นี้ โทรเลข ที่น่ารักและมีความทรงจำมากมาย จำเป็นต้องปิดบริการไป จึงขอเสนอคำนิยามเกี่ยวกับโทรเลข ดังนี้

คำว่า "โทรเลข" (telegraph) มาจากภาษากรีก หมายถึง "การเขียนจากระยะไกล"

โทรเลขในประเทศไทยเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2418 สมัยรัชกาลที่ 5 กรมกลาโหมดำเนินการสร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพมหานครไปปากน้ำ หรือ จ.สมุทรปราการ ในปัจจุบัน โดยวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไปถึงกระโจมไฟนอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้า พระยา รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการส่งข่าวสารทางราชการเป็นหลัก ต่อมาในปีพ.ศ. 2426 จึงมีการสถาปนาตั้ง กรมโทรเลข ขึ้นพร้อมกับกรมไปรษณีย์ก่อนที่โทรเลขย้ายมาให้บริการโดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

จากแหล่งข้อมูลกล่าวว่า ปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการโทรเลขเหลือเพียงเดือนละประมาณ 100 ฉบับ คิดเป็นรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ขณะที่มีต้นทุนจากการจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้มาดูแลการให้บริการโทรเลขถึงเดือนละ 25 ล้านบาท จากเดิมที่บริการโทรเลขได้รับความนิยมสูงสุดโดยในเดือนมีนาคม 2538 มีผู้ใช้บริการขาเข้าสูงถึง 487,984 ฉบับ และขาออกอีกกว่า 500,000 ฉบับ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริการโทรเลขเคยมียอดผู้ใช้สูงสุดอยู่ที่ปีละ 3 ล้านฉบับ หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.5 แสนฉบับ แต่ปัจจุบันมียอดใช้งานวันละไม่ถึง 100 ฉบับ หรือประมาณปีละ 4,000 ฉบับ และมีรายได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท โดยข้อความในโทรเลขส่วนใหญ่เป็นจดหมายทวงหนี้ (คงไม่ใช่สิ่งที่ผมได้พบ เห็นเมื่อปีที่แล้วหลอกนะ)

โดยมีการให้บริการโทรเลขในประเทศ 7 ชนิด ภายใต้ข้อบังคับของการสื่อสารฯ ในขณะนั้น ได้แก่ โทรเลขแจ้งเหตุสาธารณภัย, โทรเลขรัฐบาล, โทรเลขบริการ, โทรเลขอุตุนิยมวิทยา, โทรเลขสามัญ, โทรเลขข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการใช้บริการโทรเลขในประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 2 ชนิด คือ โทรเลขบริการ (โทรเลขบริการเสียเงิน) และโทรเลขสามัญ คือโทรเลขที่รับ-ส่ง ไปมาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
ขณะที่การให้บริการโทรเลขต่างประเทศมี 8 ชนิด โดยเพิ่มโทรเลขเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งได้รับความคุ้มครองในระหว่างสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวา (ลงวันที่ 14 ส.ค. 2492) และโทรเลขสาร โดยไม่มีโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการให้บริการโทรเลขต่างประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 3 ชนิด คือ โทรเลขสามัญ, โทรเลขบริการ และโทรเลขสาร

133 ปี ที่ให้บริการขาวไทยมา ทั้งสุข และทุกข์ กับข่าวด่วนที่ได้รับจาก โทรเลขถึงได้ปิดบริการไปแล้ว แต่โทรเลขก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป ..

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
30/04/51

อ้างอิง
http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK7/chapter9/t7-9-l2.htm#sect2
โทรเลข จาก วิกิพีเดีย
อิเล็คทรอนิกกับการมองเห็น
โทรเลขกับรถไฟไทย

วันพุธ, เมษายน 23

งานสัมนาการเตรียมความพร้อมจัดหาเทคโนโลยีเพื่อรองรับ พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ฯ


เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2550 ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพ ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด

คุณนนทวรรธนะ สาระมาน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและบริการ บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และหลักการเก็บบันทึกข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งคุณสมบัติของ SRAN Security Center ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่สามารถรองรับการเก็บบันทึกข้อมูลและยืนยันความถูกต้องของ Log ที่เก็บบันทึก ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว

ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี อาทิ กองทัพเรือ, ททบ.5, กสท.โทรคมนาคม, บมจ. ทีโอที, บมจ. ฝาจีบ, KSC Internet, ม.ราชภัฎพระนคร, เบทาโกรกรุ๊ป, NEC, ไทยเทพรส เป็นต้น

ภาพถ่าย Nontawattalk , คุณกฤตยา รามโกมมุท Account Manager Global Technology และ คุณประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ Managing Director Plannetcomm

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

วันอาทิตย์, เมษายน 20

palindromic sum

่ก่่อนจะลืมจากการอ่านหนังสือ ต่วย'ตูน พิเศษ ฉบับที่ 397 มีบทความเกี่ยวกับตัวเลขที่น่าสนใจ จนผมต้องเก็บบันทึกไว้ใน blog แห่งนี้เพื่อว่าจะได้เป็นการทบทวนความจำว่ามันมีเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาเกี่ยวกับตัวเลขความน่าสนใจมีอยู่มากสำหรับบทความเล่นกับตัวเลข แต่ที่นำมาลงเป็นผลบวก และ ตัวเลขเฉพาะ

ผลบวกพาลินโดรมิก (Palindromic sum) เมื่อเอาเลขจำนวนใดก็ได้ (สองหลักขึ้นไป) มาสบับลำดับหน้าหลัง แล้วบวกเข้าด้วยกัน บางทีแค่หนเกียวก็จะได้เลขที่เรียกว่า "ผลบวกพาลินโดรมิก Palindromic sum" ออกมา ได้แก่ ตัวเลข 38 + 83 = 121 เลข 121 ก็คือพาลินโดรมิก เพราะอ่านจากซ้ายหรือขวาก็มีค่าเท่ากัน

ส่วนอีกเรื่องคือ ตัวเลขเฉพาะ ตัวเลข 37 ซึ่งไม่มีเลขอื่นใดหารมันได้ลงตัว ยกเว้น 1 กับตัวมันเอง มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือสามารถนำไปหารเลขต่อไปนี้ได้ลงตัว คือ 111, 222, 333, 444 ,555, 666, 777, 888, 999

เสริมความสนุก เกมส์เกี่ยวกับตัวเลข ไม่ต้องคิดอะไรมากลองเล่นเกมส์นี้สิครับ ไม่ง่ายไม่ยาก กำลังพอดี ชื่อเกมส์ Family at the Bridge






วิธีการเล่น

1. ข้ามสะพานทุกครั้ง ต้องมีตะเกียง

2. ความเร็วในการข้ามของแต่ละคนไม่เท่ากัน เรียงตามลำดับ [1-วินาที] [3-วินาที] [6-วินาที] [8-วินาที] [12-วินาที]
3. ข้ามสะพานได้ครั้งละ 1 หรือ 2 คน
4. คู่ที่ข้ามสะพานพร้อมกันให้ยึดคนที่ช้ากว่าเป็นหลัก
5. ตะเกียงจะดับหากเวลาเกิน 30 วินาท

ข้อมูลจาก
เล่นกับเลข โดย อุดร จารุรัตน์ ต่วย'ตูน พิเศษ

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

วันเสาร์, เมษายน 12

สิ่งธรรมดาคือสิ่งวิเศษ


เมื่อวานผมได้รับ e-mail หัวเรื่อง "สิ่งธรรมดาคือสิ่งวิเศษ" มีประโยคที่อ่านแล้วรู้สึกดีจึงอยากนำมาเผยแพร่เป็นของขวัญวันปีใหม่ไทย เป็นสิ่งดีๆที่เข้ามาในชีวิตเรา ประโยคนั้นมาจากคำพูดของ
ท่าน ติช นัท ฮันท์ “ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำ หรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์คือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว” เพราะชีวิตเราในแต่ละวันล้วนมีแต่เรื่องธรรมดา

โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราต้องความสำเร็จในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งอยู่เสมอ แต่จะสำเร็จอย่างไรนั้นขึ้นกับเหตุในปัจจุบันหลายอย่างเช่น มีคุณสมบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ มีความรู้สึกต่อความสำเร็จนั้นอย่างไร มีความพอใจหรือไม่พอใจ พูดกันตามความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรามีความประสบความสำเร็จอยู่เสมอ แต่ที่บางคนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าไม่ประสบความสำเร็จนั้น ก็เป็นเมื่อความต้องการอย่างหนึ่งสำเร็จตามความต้องการแล้ว ก็มีความต้องการอย่างใหม่เกิดขึ้นอีก หรือในความต้องการอย่างเดียวกันนี้ แต่มีระดับสูงขึ้นไป ในกรณีดังกล่าวถ้าเขาพอใจในความสำเร็จนั้น ความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จก็ดำรงอยู่นานหน่อย เท่าที่ความพอใจของเขายังคงดำรงอยู่ แต่เมื่อรู้สึกไม่พอใจ ความสำเร็จก็มีค่าเท่ากับความไม่สำเร็จ และดูเหมือนให้ความทุกข์ทรมานแก่เขามากขึ้น
สำหรับคุณธรรมที่จะเกื้อกูลให้ประสบความสำเร็จนั้นตามพุทธศาสนามีหลายประการ เช่น ต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นทางที่ดำเนินอยู่ และมีฉันทะ คือความพอใจในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่พอใจไม่ใช่ทำแบบเบื่อหน่าย

ที่สำคัญคือศรัทธาในคุณงามความดี และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างไม่เสื่อมคลาย นอกจากนี้ยังต้องมีความพากเพียรพยายามสม่ำเสมอ มีความเอาใจใส่อย่างจริงจัง มีสติรอบครอบ มีความตั้งใจมั่นคง มีปัญญารอบรู้
มีความเข้าใจชัดแจ้งในกิจการงานนั้นๆ จะนำพาสู่ความสำเร็จในชีวิตการงานและการดำเนินชีวิตได้

สวัสดีปีใหม่ไทย ครับ
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman