'ความว่าง' หรือที่บาลีเรียกว่าสุญญตา ก็เพราะเห็นว่านี่เป็นหัวใจแห่งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส
ท่านอาจารย์เองเคยกล่าวไว้ว่า "ธรรมที่ลึกที่สุดก็คือเรื่องสุญญตา นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาและสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมีตถาคตเกิดขึ้นมา"
สุญญตา หมายถึง สภาพของความจริงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามเหตุปัจจัย และหมายถึงความจริงแบบองค์รวมมากกว่าความจริงแบบแยกส่วน
สภาพความจริง ที่สรรพสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้นและมีอยู่ ด้วยเหตุนี้แต่ละสิ่ง จึงปราศจากแก่นสารในตัวเอง (self-nature) หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือไม่มีอัตลักษณ์แยกต่างหาก (separate identity)
หรืออีกนัยหนึ่งคือ การไม่มีแก่นสารในตัวเองภาษาสันสกฤตเรียกว่าไม่มี สวภาวะ แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอยู่จริง หากมีอยู่โดยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดอุบัติขึ้นได้โดยอิสระ
หลวงพ่อนัทฮันห์ อาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงจึงบอกว่า ความเป็นสุญญตาเกี่ยวโยงอยู่กับความเป็นอนัตตาอย่างใกล้ชิด สิ่งต่างๆ'แค่ว่างจากตัวตน แต่เต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง' หรือพูดตามท่านคุรุนาคารชุน ก็ต้องบอกว่า"เพราะความว่างนี่แหละ ที่ทำให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายก่อรูปขึ้นมาได้"
หลักธรรมเรื่องความว่างนั้น เกี่ยวโยงกับคำสอนของพระพุทธองค์เรื่อง อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน
ความจริง ธรรมชาติเลื่อนไหลไปตามกฏดังกล่าวอยู่แล้ว มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่บ่อยครั้ง หยั่งไม่ถึงกฏแห่งการไร้ตัวตน กฏแห่งการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นมีอยู่ ตลอดจนกฏแห่งการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย ทุกอย่างในโลกธรรมชาติล้วนดำเนินไปในอ้อมกอดของสุญญตา สรรพสิ่งยืมตัวเองมาจากการมีอยู่ของสิ่งอื่น ใน ทะเลมีสายฝน ในหยาดฝนมีทะเลกว้าง ละอองไอในก้อนเมฆ แท้จริงแล้วคือท้องทะเลที่กำลังเดินทาง เมื่อเราเห็นฝนก็คือเห็นทะเล เห็นทะเลก็คือเห็นฝน ซึ่งหมายถึงว่าเหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา ไม่จำเป็นว่าอย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุของอีกอย่างหนึ่ง การมีอยู่ของสิ่งใดก็ตาม เป็นผลมาจากการชุมนุมของนานาปัจจัย เมื่อปัจจัยพร้อมสิ่งนี้จึงเกิด เมื่อปัจจัยเปลี่ยนสิ่งนั้นจึงดับ เหมือนเมล็ดพันธุ์ไม้ผลิงอก ปัจจัยต้องพร้อมทั้งดิน น้ำ แสงตะวัน
ตรงนี้จึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือการนำหลักธรรมดังกล่าวมาส่องให้เห็นความว่างอันเป็นลักษณะของโลก แต่การหยั่งถึงสภาพสุญญตาของโลกเป็นสิ่งที่ยากมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่อาศัยหลักธรรมนี้มาขัดเกลาตัวเองเสียก่อน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตอบคำถามพระอานนท์ เกี่ยวกับสภาพสุญญตาของโลกว่า 'โลกสูญ...เพราะว่าสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน'
จากพุทธวัจนะดังกล่าว เราอาจอ่านความหมายได้สองทางคือ หนึ่ง โลกเป็นความว่างเพราะสรรพสิ่งไม่มีตัวตนแท้จริง สอง จะเห็นความว่างของโลกได้ ก็ต้องเข้าใจความว่างตัวตนของเราด้วย
ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เน้นว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ที่สำคัญคือต้องมาใช้มองด้านใน คำกล่าวของท่าน ที่ว่า'ว่างจากตัวกูของกูเท่านั้น จะว่างหมดจากทุกสิ่ง' เท่ากับบอกว่าถ้าอยากจะหยั่งเห็นอิทัปปัจจยตาภายนอกนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการหยั่งถึงอิทัปปัจจยตาภายใน
อันนี้หากอ่านให้ลึกลงไป ก็ต้องสรุปว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในโลก ไม่ใช่เรื่องภายนอกเท่านั้น หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในด้วย และจะต้องดับเหตุการณ์ภายในเสียก่อน จึงจะดับเหตุการณ์ภายนอกได้
อันที่จริงประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ภายในนั่นแหละ คือถ้าบุคคลหยั่งไม่ถึงความว่างอันเป็นธรรมชาติของโลก หยั่งไม่ถึงกฏเหล็กของอิทัปปัจจยตา ก็จะมองปัญหาผิดไปจากความจริง และแก้ปัญหาโดยไม่สอดคล้องกับความจริง ซึ่งก็คือเพิ่มปัญหาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
การที่คนเรามองไม่ไม่เห็นสุญญตา ทำให้ชอบแบ่งโลกออกเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ ชอบบัญญัติลงไปว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้สวย สิ่งนั้นอัปลักษณ์ สิ่งนี้บริสุทธิ์ สิ่งนี้มีมลทิน ฯลฯ การมองโลกแบบทวิภาวะเช่นนี้ แท้จริงแล้วมักผูกโยงอยู่กับอัตตา ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันขัดแย้งอยู่เนืองๆ เพราะต่างฝ่าย ต่างอยากกำหนดความเป็นไปของโลกด้วยปัจจัยเดียวคือตัวเองและโทษผู้อื่นเป็นต้นเหตุโดดๆแบบไม่มีที่มาที่ไป
แต่กฏแห่งความว่างเป็นกฏเหล็ก ละเมิดแล้วก็มีแต่หาทุกข์ใส่ตัว ตรงนี้เองคืออำนาจแห่งความว่าง... อำนาจแห่ง'พระเจ้าอิทัปปัจจยตา'
ความจริงของโลกคือภาวะแยกเป็นคู่ๆแบบขาวล้วนดำล้วนนั้น เป็นแค่เรื่องสมมติ เป็นบัญญัติทางโลกที่อาจทำได้กระทั่งมีประโยชน์ หากอยู่ในระดับพอเหมาะพอสมไม่ยึดติด อีกทั้งรู้เท่าทันมัน แต่ถ้าใครก็ตาม พาทัศนะเช่นนี้เตลิดไปอย่างไร้ขอบเขต สุดท้ายย่อมติดกับอยู่กับความขัดแย้งชนิดหาทางออกไม่ได้ ทั้งขัดแย้งในตัวเองและขัดแย้งกับผู้อื่น
อันที่จริงในเรื่องความสุดโต่งของทัศนะที่จะยืนยันว่า สิ่งใดมีอยู่ สิ่งใดไม่มีอยู่ หรือสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกตามโลกบัญญัตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนไว้แล้วว่า ไม่ทำให้เกิดปัญญา
ดังพุทธวัจนะในกัจจานโคตตสูตรซึ่งทรงกล่าวไว้ว่า
'โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน 2 อย่าง คือ ความ มี1 ความไม่มี1 ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทานและอภินิเวส แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น...'
ในพระสูตรของฝ่ายมหายาน ประเด็นการก้าวพ้นทวิภาวะ ( dualism ) หรือก้าวพ้นการแบ่งแยกความจริงออกเป็นคู่ตรงข้ามนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีแต่ก้าวพ้นการยึดมั่นในสิ่งนี้เท่านั้น จึงจะได้กุญแจไปสู่การเข้าใจสุญญตา
ดังจะเห็นได้จากข้อความในคัมภีร์วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ปริเฉท9) ซึ่งบรรดาพระโพธิสัตว์หลายองค์ ได้ตอบคำถามของท่านวิมลเกียรติคฤหบดีในเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด
'กุศล อกุศลชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดไม่เกิดความรู้สึกยึดถือ ก่อเกิดกุศล ฤาอกุศล รู้แจ้งเห็นจริง เข้าถึงอัปปณิหิตธรรม จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร'
'บาป บุญ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่า เนื้อแท้ภาวะแห่งบาป มิได้ผิดแปลกจากบุญเลย ใช้วชิรปัญญาเข้าไปตัดความติดแน่นในลักษณะแบ่งแยกเสียได้ ไม่มีผู้ถูกผูกพันฤาไม่มีผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร'
ท่านอาจารย์พุทธทาสเอง ก็ยืนยันในเรื่องข้ามพ้นทวิภาวะไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า
'เราจะต้องเรียนรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เพื่อว่าเราจะได้เดินอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปโง่ไปหลงในของเป็นคู่ๆ ของเป็นคู่ที่ระบุไปยังข้างใดข้างหนึ่งโดยเด็ดขาดนั้น ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา เป็นสิ่งสมมติ.. '
อ้างอิงจากงานสัมนา อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman