ครั้งแรกกะว่าจะไม่เขียนแล้วนั่งดูกระแสสังคมเงียบๆ และปล่อยให้เวลาเป็นตัวสร้าง ระดับการเรียนรู้ของผู้คนที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยได้เรียนรู้กันเอง แต่อดไม่ได้จึงขอเขียนบทความนี้ขึ้นมาสักหน่อยเผื่อว่าใครค้นหาเจอแล้วได้พบข้อมูลนี้ขึ้น และเผื่อว่าจะเพิ่มมุมมองอีกด้านหนึ่งให้เป็นที่รับรู้กัน
จากข่าวที่ออกมาว่า กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร หรือ ไอซีที นั้นได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือ ข่ายอินเทอร์เน็ต ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการต้องติดตั้งอุปกรณ์ดักจับข้อมูลบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ต หรือ Sniffer ไว้ที่เกตเวย์ด้วยเพื่อใช้ดักอ่านข้อมูลที่วิ่งบนระบบเน็ตเวิร์ค จนเกิดกระแสสังคมต่อต้านอย่างสูงจนเป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลท์เมืองไทยในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา
ซึ่งทำให้สังคมออนไลท์มองว่าการนำ sniffer มาใช้นั้นจะผิดกฏหมายในมาตรา 8 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และทำให้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
หากแยกเป็นสองส่วนคือ เรื่องผิดกฏหมายในมาตรา 8 และเรื่องละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
1. เรื่องผิดกฏหมาย
ซึ่งหากให้อธิบายในส่วนมาตรา 8 นั้นอาจกล่าวได้ว่าการกระทำผิดนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเกิดจากการกระทำโดยมิชอบด้วยกฏหมาย โดยดูที่เจตนาผู้ใช้เครื่องมือนี้เป็นหลัก จึงจะมีผลในมาตรา 8 หากชอบโดยกฏหมายแล้วนั้นการกระทำเช่นนี้ก็ไม่ผิด
ผมขอสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้น สักนิด โดยการยกตัวอย่าง บริษัท ABC เป็นโรงงานแห่งหนึ่ง ออกกฏให้พนักงานต้องพิสูจน์ตัวตนก่อนใช้งานคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จากนั้นถ้าบริษัท ABC ได้จัดซื้อระบบ Monitoring System และประกาศให้พนักงานทุกคนรับทราบ ก็เพื่อดูพฤติกรรมการใช้งานผิดประเภทของพนักงานที่ใช้งานอินเตอร์เน็ต เช่น การส่งความลับบริษัทออกไปภายนอก , การติดไวรัสคอมพิวเตอร์การอินเตอร์เน็ตบราวเซอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายติด Spyware และเป็น botnet สร้างความเสียหายให้แก่บริษัทและชื่อเสียงองค์กร และอื่นๆ ที่พึ่งเป็นประโยชน์แก่องค์กร บริษัท ABC ซื้อระบบนี้ก็เพื่อป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คำถามว่าบริษัท ABC ทำผิด พรบ.คอมพ์ฯ หรือไม่ หากเราคิดเอาแต่ได้คือคิดฝั่งเราเองแต่อย่างเดียว ไม่เห็นอกเห็นใจ เจ้าของบริษัท ABC ผู้ที่ซื้อคอมพิวเตอร์ให้พนักงาน ให้เช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ต จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าลิขสิทธิ์ระบบปฏิบัติการ ซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน และค่าซ่อมบำรุงต่างๆแล้วนั้น ก็แน่นอนอาจตีความหมายได้ว่าบริษัท ABC มีโอกาสผิด พรบ. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องบอกว่าบริษัท ABC ใช้ระบบ Monitoring System ซึ่งอาจใช้เทคนิคการ sniffer ก็ได้ แต่เป็นการทำโดยชอบ เพราะเขาได้ลงทุนระบบไปแล้ว และหากทำโดยชอบแล้วก็ไม่ถือว่าผิดมาตรา 8 ที่กล่าวมา กลับเป็นเรื่องดีเสียอีกที่ทำให้บริษัท ABC ไม่เสียโอกาสกับการทำ "Internal Threat" ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกองค์กรที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต คำตอบในข้อนี้คือหากทำจริงก็ไม่ถือว่าผิดกฏหมาย แต่ต้องตีความหมายใหม่ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป
กลับมาสู่ประเด็น รัฐบาลจะใช้ sniffer เพื่อดูเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นั้นควรทำหรือไม่ ?
ตอบ : ในส่วนตัวผมคิดว่า "ควรทำ" แต่ควรเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่เรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยมีเหตุผลสมทบ 3 เหตุ ดังนี้
1.1 หากจะทำควรให้ความรู้ประชาชนก่อน (User ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต) ถึงพิษภัยบนโลกไซเบอร์ ว่าปัญหาการใช้ข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตนับวันยิ่งผู้ใช้งานมากขึ้น มากขึ้นๆ และมีทั้งคุณและโทษ โดยในด้านโทษนั้นจะเห็นได้ชัดว่าอินเตอร์เน็ตเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดคดีต่างๆมากมายเช่นกัน เช่น คดีหลอกหลวงคน จากการซื้อขายสินค้าในอินเตอร์เน็ต , คดีละเมิดทางเพศ ไม่เว้นแต่พระ , คดีหมิ่นประมาท , หรือจะเป็นการโจมตีระบบเครือข่ายจนไม่สามารถใช้งานได้ โดยปีที่แล้วก็มีข่าวอันโด่งดังคือ ข่าว DDoS/DoS ที่ประเทศเกาหลี จนเกาหลีไม่สามาถใช้อินเตอร์เน็ตได้ทั่วประเทศ แต่เกาหลีมีระบบ Monitoring ที่ดีจึงสามารถตรวจหาผู้โจมตีและเอาผิดดำเนินคดีได้ในระยะอันสั้น ถึงได้กล่าวว่าภัยเหล่านี้มีความถี่มากขึ้นๆ ซึ่งทุกวันนี้ ประเทศไทยเราเอง หากมีการกระทำผิดบนโลกอินเตอร์เน็ตและเป็นคดีความนั้น จะเป็นไปได้ยากมากในสืบหาผู้กระทำความผิด
ขอยกตัวอย่างกรณีแก๊งไนเจีย 419 ทาง FBI แจ้งมาที่ตำรวจไทยว่าแก๊งนี้อยู่ที่เมืองไทยโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการหลอกลวง (Phishing) ผู้คนทั่วโลกผ่าน e-mail เชื่อหรือไม่ว่าตำรวจเรากว่าจะหาแก๊งนี้และจับได้นั้นใช้ความสามารถของคนและโชค โดยแท้ และหาก FBI ไม่แจ้งมานั้นเราก็ไม่รู้หลอกว่าประเทศเราได้เป็นฐานของแก๊งนี้ใช้หลอกลวงขึ้น เหมือนดังว่าประเทศของเรากลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคด้านอาชญากรรมข้ามชาติไปเลยในกรณีนี้
ดังนั้นวิธีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมอินเตอร์เน็ตสงบได้ก็คือทุกๆที่มีการให้บริการข้อมูลควรมีการเก็บ Log และ Log ที่เก็บต้องเป็นประโยชน์ในการสืบสวนมิใช่เป็น Log ที่อ่านยาก จนไม่รู้จะหาผู้กระทำผิดและเป็นหลักฐานได้อย่างไร อันที่จริงแล้วก็มีประกาศเป็นกฏหมายในมาตรา 26 ของ พรบ.คอมพ์ฯ แต่หลายๆครั้งเราก็พบว่าหลายก็ยังไม่ได้มีการเก็บ Log : ขออธิบายเสริมนอกเรื่อง ว่าในการเก็บ Log ที่ดีนั้นถ้าเลือกได้ Log Server ไม่ควรรับ Log มาจาก Router หรือ Switch เหล่านี้การพิสูจน์หาหลักฐานแล้วแทบไม่มีประโยชน์จาก Log เหล่านั้นเลย เนื่องจากโลกอินเตอร์เน็ตทุกวันเป็น Content Application มิใช่เพียงแค่ Network IP , ดังนั้น Log จาก Router หรือ Switch มีประโยชน์เพียงการดูความผิดปกติจากการโจมตี DDoS/DoS และการแพร่ไวรัสชนิดที่ยังไม่มีฐานข้อมูล หากจำเป็นต้องเก็บ Log (ภายในองค์กร) ควรเป็น Log จาก Firewall (UTM) หรือ Proxy หรือ NIDS/IPS และ AD (Active Directory) เป็นอย่างน้อย (อ่านเพิ่มเติมจากบทความเทคนิคการสืบหาผู้กระทำความผิด , สืบจาก Log ) แต่การเก็บบันทึก Log ก็ไม่ได้ซึ่งเหตุการณ์ที่ทันเวลา และไม่สามารถบังคับให้ทุกทีเก็บ Log ได้เหมือนกันหมดเพราะเหตุปัจจัยด้านการออกแบบทั้งระบบ Log Management เองและ ระบบ Network ซึ่งแต่ละที่มีการออกแบบที่แตกต่างกันอยู่ และที่สำคัญคือทุนในการจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยี สุดท้ายคือบุคคลากร ที่ทำงานด้านนี้ต้องประสานกันได้
1.2 กระทรวงไอซีที ไม่ควรใช้คำว่า sniffer หากเป็นลักษณะการ Tap ข้อมูลก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าไม่มีทางที่เอาข้อมูลมาได้ทั้งหมด หรือหากได้ทั้งหมดด้วยทุนมหาศาลแล้วนั้น ก็ไม่สามารถที่รู้ได้ว่าใครเป็นใคร ในโลกอินเตอร์เน็ตได้ นอกเสียจาก IP Address ผู้ใช้งานเท่านั้น ควรใช้คำว่า การทำ Lawful interception ที่หลายๆประเทศทั้งยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ก็ทำกันทั้งนั้น
ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศเขาเรียกการทำแบบนี้ว่า Lawful Interception หากแปลเป็นไทยคือการตรวจสอบข้อมูลโดยชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งในต่างประเทศจะต้องออกกฏระเบียบ เป็นกฏหมายขึ้นมาก่อน แล้วให้หน่วยงานกลางเป็นผู้ดูแลเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะมีประโยชน์กับ ISP หรือผู้ให้บริการ หากมีคดีความ และเหตุการณ์ด้านความมั่นคงฉุกเฉิน จะได้ไม่ต้องขอข้อมูลจาก ISP อีกต่อไป ตำรวจและเจ้าหน้าที่จะตรงไปที่หน่วยงานกลางที่จัดตั้งขึ้นมานี้ทันที
ซึ่งหากเมืองไทยจะทำ กฏหมายเหล่านี้ นั้นมีอยู่แล้วในเรื่องความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งกฏหมายไทย เช่นหน่วยงาน DSI หรือ หน่วยพิเศษทางทหารบางหน่วย ก็สามารถใช้กฏพิเศษเหล่านี้ได้ เพื่อจุดประสงค์ด้านความมั่นคงของชาติเป็นหลัก
1.3 กระทรวงไอซีที ควรมองเรื่องนี้ไปในทิศทางด้านความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติไทยเป็นหลัก มากกว่าเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะหาก Implement สำเร็จ สิ่งที่ได้ตามมานั้นคือการ Trackback เรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อยู่แล้ว เป็นผลพ่วงทางอ้อม และสิ่งที่ได้มาจริงๆ นั้นก็เป็นเพียง IP Address ต้นทาง ที่ ISP จ่าย IP ให้ ไม่ได้รู้หลอกว่าเป็นใคร ซึ่งส่วนนั้นต้องไปตามกันต่อที่ระบบ Radius หรือระบบ Billing ที่จ่ายค่า account อินเตอร์เน็ตไปกับหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งจะตามต่อได้แล้วว่าเป็นใคร ซึ่งมีกระบวนการทำงานอีกพอสมควร (ถึงแม้จะมี IPv6 ก็ตามขั้นตอนก็ไม่ได้แตกต่างไปเลย ยกเว้นบ้าง ISP ที่มีระบบ Inventory ดีๆ อาจจะ Trackback ได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะ พวกที่ใช้มือถือใช้งานอินเตอร์เน็ต เป็นต้น)
ในต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่อง Lawful Interception มาก โดยเฉพาะประเทศที่มีบทเรียนด้านอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มาแล้ว เช่น อเมริกา ทุกวันนี้หากกล่าวกันอย่างเต็มปากเต็มคำแล้ว ประเทศไทยเรายังโชคดีมาก ที่การใช้งานอินเตอร์เน็ตถือว่าเสรีมากๆ และไม่มีระบบระเบียบอะไรมาควบคุม และสาวตัวถึงต้นตอของการกระทำผิดผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ คือต้องอาศัยความสามารถส่วนบุคคลในการสืบ การติดต่อ ISP และการพิสูจน์หาหลักฐานในอินเตอร์เน็ตมากกว่าเทคโนโลยี อเมริกา จีน และประเทศในฝั่งยุโรป นั้นตรวจหมดใน Protocol ที่สำคัญ ไม่ว่าเป็น HTTP (Web) , SMTP , POP3 , Web Mail , VoIP อื่นๆ อเมริกาถึงขั้นตรวจภาพเพื่อตรวจหาการซ่อนข้อความไว้ในภาพ (Steganography) ที่ตรวจละเอียดจนไม่เหลือความเป็นส่วนตัวได้นั้นก็เพราะเขามีบทเรียนจากเหตุการณ์ 9/11 มาแล้วว่าผู้ร้ายซ่อนข้อมูลในภาพและส่ง e-mail กัน
2. เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือไม่ ?
"เรากังวลในเรื่องไม่น่ากังวล !!" เพราะสิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ข้อมูลเราก็หลุดไปสู่โลกภายนอกอยู่แล้ว
เรากังวัลเรื่องข้อมูลส่วนตัวเราจะถูกล่วงรู้ ?? จากรัฐบาลหรือผู้ทำระบบ หรือ อื่นๆ หากผมจะบอกว่าข้อมูลส่วนตัวของเรา นั้นจริงๆแล้วไม่มีความลับเลยตั้งแต่เราเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือตั้งแต่เราซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องนี้มาใช้เล่นอินเตอร์เน็ต แม้กระทั่งข้อความที่ผมพิมพ์อยู่นี้ อย่างน้อย robot จาก google คงตามผมเจอเพราะผมใช้ blogspot และค่า fingerprint บนระบบปฏิบัติการผม IP Address ที่ไปประทับแล้วใน blogspot (Log บน Web blogspot server) ไปเรียบร้อยแล้ว
ที่กล่าวไปอย่างงี้ คงมีคนเถียงผมเป็นแน่ จึงขอยกตัวอย่างว่าทำไมเราไม่ไปกังวลเรื่องอื่น เช่นเรื่องที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง ๆ ไปแล้วกันครับ
2.1 Peering ข้อมูลที่ไหลออกนอกประเทศ : เวลาเราเล่นอินเตอร์เน็ต สงสัยบ้างไหมว่า ทำไมดูเว็บบ้างเว็บเร็วจังเลย เช่น www.youtube.com , google.com , msn และ social network อื่นๆ ที่เร็วเป็นเพราะว่า ISP ในประเทศไทยแข่งขันกันอยู่เพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการมากๆ เขาต้องทำระบบ Caching เพื่อการที่ทำให้ข้อมูลในเร็วขึ้น แต่การ Caching google ได้นั้น ต้อง Peering ส่วนใหญ่ ISP จะทำ Peering Link ไปที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วเราไม่เอะใจ ++ บ้างหรือว่า Caching อยู่ที่สิงคโปร์นั้น ข้อมูลใน Caching นั้นไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวเรา ? เพราะได้ทั้งเนื้อหาทั้งหมด (Content) ที่เราเปิดอยู่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความเร็วในครั้งต่อไปเราจะได้เปิดเร็วขึ้น คนอื่นที่เปิดคลิปเสียง คลิปวิดีโอที่เราเคยเปิดก็เปิดได้เร็วขึ้น แล้วที่สำคัญข้อมูลไม่ได้อยู่ในประเทศเรากับไปยังต่างประเทศ แบบนี้เราไม่กังวลหรือ ??
ภาพบริการ Peering ส่วนใหญ่จะใช้กับเว็บไซต์ยอดนิยม (ภาพจาก www.digitalsociety.org )
2.3 ซอฟต์แวร์บราวเซอร์ ใครใช้ บราวเซอร์ IE6 อยู่ ก็จะพบว่ามีโปรแกรม Alexa ฝั่งเข้าในเครื่องเราเพื่อดูพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของเราเอง เพื่อจัดสถิติและเพื่อประโยชน์ในกลุ่มวิจัยการตลาด เพื่อให้สินค้าได้ซื้อขายได้ถูกประเภทกับท้องถิ่นที่ใช้งานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นพฤติกรรมใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ควรจะขายสินค้าไหนดี โฆษณาอะไรดี เป็นต้น
ผมแสดงถึงความสงสัยต่อ Alexa ดังนี้
-
** เราเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า Alexa จัดอันดับเว็บไซต์ในประเทศไทยได้อย่างไร ? ทั้งทีไม่ได้ติดสคิปพวก Web stats ในเครื่อง Web Server เราเลย (http://www.alexa.com/topsites/countries/TH)
alexa เอา cookie ในเครื่องเราไปเพื่อจัดทำสถิติ แล้วแบบนี้เราไม่กังวลหรือ ?
2.4 google เจ้าพ่อข้อมูล ใครที่ใช้บริการ google app ที่เป็นระบบ Cloud computing คุณไม่ต้องห่วงว่าทำไม e-mail ที่ใช้ google app โฆษณาข้างมุมขวามือของเรา ถึงได้เข้าถึงตัวเรา รู้จัก Life style เราเป็นอย่างดี ซึ่งหากเราใช้ บราวเซอร์จาก google , Mobile จาก google , mail จาก google , web ค้นหาจาก google แล้วนั้น โอ้ไม่ต้องกล่าวครับข้อมูลส่วนตัวเราไปอยู่ข้างนอกเกือบหมดแล้ว ข้อมูลส่วนตัวนั้นคือพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของเรา พฤติกรรม e-mail ที่ส่งเข้ามาใน mail box ของเรา อีกทั้ง google ยังสามารถใช้ crawler สำรวจเนื้อหา e-mail เราได้หากเราใช้บริการฟรี mail บน google app จึงขอบอกว่าโลกอินเตอร์เน็ตของเราถูก google สร้างกรอบขอบเขตให้อย่างหมดจดแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานอินเตอร์เน็ต ที่เราอยากรู้อะไรก็ได้รู้ อยากทำอะไรก็ได้ไม่ต้องลงโปรแกรมให้ยุ่งยาก เช่นมี widget มาให้พร้อม ไม่ต้อง Implement หา Mail Server ที่มีความปลอดภัยและเสรียฐสูงๆ แต่ทั้งหมดนั้นเราได้ง่ายเราก็ต้องยอมที่เสียความเป็นส่วนตัวไปบ้าง ?? แบบนี้เรายอมรับกันได้ ?? ข้อมูลของเราในมือของคนอื่น เรายอมได้หรือ ??
ภาพการ์ตูนล้อเลียนการสอดส่องข้อมูลของ google ภาพจาก theipinionsjournal
http://sran.org/g5 ก็เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งว่าไม่มีความลับในโลกอินเตอร์เน็ต เพราะมี robot อยู่ทั่วอินเตอร์เน็ตเพื่อสอดแนมเราrobot ที่วิ่งเข้าถึงข้อมูลของเราก่อนใครเพื่อนคงหนีไม่พ้น google เราเคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไม google ถึงได้รู้ว่าประเทศของเรามี Keyword คำไหนที่เป็นที่นิยม และเลือกดูตามรายภูมิภาค ว่าจังหวัดไหนในประเทศไทยมีการใช้ Keyword ใดในการค้นหาข้อมูลมากที่สุด ทำไม google รู้ได้ ทั้งทีเราก็ไม่เคยรู้ตัวว่าข้อมูลเหล่านั้นไปที่ google ได้อย่างไร
ภาพแสดงหน้าจอเว็บไซต์ http://www.google.co.th/insights/search/#
อื่นๆอีกมากมาย ที่ข้อมูลเราหลุดไปทางอินเตอร์เน็ต โดยที่เราเองไม่รู้ตัว ... ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็ส่งไปที่ประเทศต้นกำเนิดอินเตอร์เน็ตนั่นแหละ ที่กล่าวนั้นคิดว่าละเมิดมากกว่า sniffer ที่กระทรวงไอซีทีประกาศ เนื่องจาก การ sniffer นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาข้อมูลมาทั้งหมด หรือหากเป็นไปได้ว่าข้อมูลทั้งหมด ก็คงไม่มีใครมานั่งดูอยู่ตลอดว่าใครเป็นใคร จะรู้ก็แค่เพียง IP Address ที่เราได้รับจากฝั่ง ISP เท่านั้นหากใช้ เมื่อรู้ IP ก็ยังต้องไปตามต่อว่าเบอร์โทรศัพท์ที่ ISP ส่งค่าให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้นั้นเป็นใครที่จดทะเบียนไว้ ได้เบอร์โทรศัพท์ถึงได้ที่อยู่ ซึ่งมีขั้นตอนพอสมควร ที่หลายคนเป็นห่วงนั้น ผมเลยตั้งคำถามว่าจะกลัวอะไร หากเราไม่ได้ทำผิดอะไร ? ถ้าดูเว็บโป๊ ก็ไม่ต้องกลัวหลอก แต่ถ้าขายยาบ้านี้สิอาจจะถูกจับได้หากระบบบันทึกได้ จึงไม่อยากให้ผู้ใช้งาน (User ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไทย) ต้องกังวลเพราะที่ผมกล่าวไปทั้ง 5 ข้อมูลที่ส่งจากเครื่องเราได้ส่งไปโดยตรงด้วยซ้ำ หนักกว่าการ sniffer เสียอีก แบบนี้ยังไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาบ่น ..
มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนอยากจะหนีไปให้ไกล แล้วใช้วิธีการต่างๆ นานา เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบที่ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร เช่น การใช้ Network Tor ผมก็เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ Tor และพวก Anonymous proxy มาว่า ไม่มีคนปกติที่ไหนจะใช้พวกนี้ ดังนั้นพวกที่ใช้ Tor หรือ Anonymous ก็อาจจะมีคนเฝ้าดูอยู่เพราะส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ เช่น ขายยาในเว็บ หรือ เป็น Spammer อื่นๆ ... ดังนั้น Tor เองก็มี NSA spy จากอเมริการเฝ้าดูเราอยู่เช่นกัน (อาจมีมากกว่า NSA Spy..แล้วแต่ผู้ให้บริการที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ) ถ้าใครอยากอ่านเพิ่มเติมก็อ่านได้ที่
Anonymity Network เครือข่ายไร้ตัวตน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 หากใครจะใช้วิธี Tor หรือ Anonymous proxy ก็ให้คิดดูดีๆ อาจจะเป็นหนีเสือปะจระเข้ ก็ได้
ที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ใช่ว่าจะให้กลัวจนไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตพอดี ทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะมีระบบ open source ที่ปล่อยให้เราตรวจสอบได้ทั้ง โปร่งใสขึ้น แต่ถึงอย่างไรความก้าวหน้าของเรากับระบบไอซีทีในต่างประเทศมันห่างไกลกันอยู่จึงทำให้ผู้ใช้งาน (User) ต้องการความสะดวกสบายมากกว่าข้อมูลส่วนตัว จึงเกิดเป็นเช่นนี้ขึ้น ผมคิดว่าเราควรสร้างโอกาสนี้เป็นการเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ใช้งานให้มาก สร้างคนให้มีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันตนเองจากการใช้ข้อมูลอินเตอร์เน็ต และการหันไปใช้ระบบ Open source อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
ที่ผมกล่าวๆ มานั้น จะเชื่อหรือไม่ นั้นไม่ว่ากัน แต่ถามว่าแบบนี้จากข้อ 2.1 - 2.5 ที่กล่าวไปนั้น เราไม่กังวลมากกว่าเรื่อง sniffer ที่เราถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือไม่ ??
และใครกันแน่ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ก่อนใคร ?? หากเป็นเพราะความไม่รู้จากตัวเราเอง และการเป็นผู้ใช้งานที่ดี เกินกว่าการเป็นนักทดลองศึกษา
จากข้อ 2.1-2.5 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่กล่าวมานั้น ข้อมูลเราหลุดไปต่างประเทศ ที่ไม่ใช่ประเทศไทย แน่นอน google , yahoo , microsoft ค่าย anti-virus/spyware อาจไม่สนใจประเทศเล็กๆอย่างเราก็เป็นไปได้ เพียงแค่ต้องการดูพฤติกรรมการใช้งาน เพื่อไปทำการโฆษณาและการตลาดในต่างประเทศ เพื่อจะนำสินค้ามาขายให้พวกเราๆ นี้แหละ ให้สินค้าตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ข้อมูลของเราที่วิ่งไปต่างประเทศนั้น เขาไม่สามารถบอกได้ว่า นี้คือ นาย ก. นี้คือเครื่อง นาย ข. รู้แค่ IP Adress ที่มาจากประเทศไทย ในภาคกลาง เหนือ ใต้ อีสาน จังหวัด เท่านั้น ไปมากกว่านั้น ณ ตอนนี้ยังทำไม่ได้ และที่ต้องการคือเรื่องเดียวคือ พฤติกรรมในการบริโภคสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งผมขอบอกได้ว่าข้อมูลของเราหลุดไปนานแล้ว และทุกวันนี้ก็ยังหลุดอยู่ และยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หากเรา คนไทยไม่หันมาพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองได้
สรุปว่า ที่เขียนไปเสียยาว ก็เพื่ออธิบายว่า "สิ่งที่เรากังวลและควรเป็นประเด็นคือ ได้เวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะไม่ปล่อยให้ข้อมูลภายในประเทศของเราหลุดไปยังที่อื่นอีก" มากเสียกว่ากลัวเรื่อง sniffer
ผมคิดว่าหากใครได้อ่านจบแล้ว ก็ลองพิจารณาดูและควรหาทางช่วยกันเถอะครับ วันหนึ่งเราควรมีระบบค้นหา (Search engine) เองของประเทศเรา มีระบบ E-mail ที่ไว้ใจได้ มีความเสรียฐ มีระบบป้องกันไวรัส และที่สำคัญ Mail Server ต้องป้องกัน Spam mail ได้ดีเยี่ยม ทั้งหมดควรเกิดจากการพัฒนาขึ้นของคนในชาติเรา มีระบบ Caching ที่ไม่ต้องไปพึ่งต่างประเทศ มีระบบเฝ้าระวัง ที่ใช้เทคโนโลยีที่ควบคุมได้เอง กันเถอะ วันนี้ประเทศในยุโรปรู้ถึงเรื่องราวเล่านี้แล้ว จีนก็รู้แล้ว และอีกหลายประเทศ (จากข่าวเร็วๆนี้จีนก็ไม่ให้ google อยู่ในประเทศแล้ว) หากในอนาคตมีอินเตอร์เน็ตใช้ทั่วทุกมุมโลก สมรภูมิรบใหม่บนโลกใบนี้ก็จะหันมาชนะกันที่ข้อมูลข่าวสาร มากขึ้นและลองจิตนาการภาพดูว่าตอนนี้ใครคือผู้กุมเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตได้มากที่สุด .... หากเวลานั้นมาถึงจริงประเทศของเราก็เพียงแต่เป็นผู้ตามชาติที่แข็งแรงกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย (อ่านเพิ่มเติมบทความสมรภูมิรบใหม่บนโลกไซเบอร์ Cyberwar) วันนี้เราเหมือนผู้เริ่มได้สนุกกับการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ยังตื่นตาตื่นใจกัน ผมถึงเขียนในบรรทัดแรกตั้งแต่ตอนต้นบทความนี้แล้วว่า อยากปล่อยให้เวลา เป็นตัวพัฒนาระดับการเรียนรู้ของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเมืองไทยไปเองเสียก่อน ถึงจุดหนึ่งเราอาจต้องหันมาดูเรื่องความมั่นคงของข้อมูลมากขึ้น ตระหนักถึงผลร้ายผลเสีย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเราเสียก่อน หลังจากที่เราได้อิ่มกับการใช้งานเทคโนโลยีไปพอสมควรแล้ว
วันนี้คิดว่ายังไม่สายเกินไป สำหรับประเทศไทย หากเราเริ่มลงมือ ให้โอกาสคนไทยได้ทำ เพื่อประเทศไทยของเรา
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
26/01/53