วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 12
เหตุการณ์ รศ. 112 กับสถานการณ์ประเทศไทยปัจจุบัน
เรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวการเสียดินแดน ให้กับต่างประเทศมาแล้วในอดีต คือเหตุการณ์ รศ 112 (2436) ในสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคข้าวยากหมากแพงก็คงจะไม่ผิด เราจะเผชิญปัญหานี้อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ อย่างไร นั้นผมคงไม่สรุป แต่ขอหยิบยกเหตุการณ์เมื่อในอดีตมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน และกลับไปคิดทบทวนดูว่า เราควรมีทิศทางเดินเช่นไรเพื่อมิให้ประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของเราต้องสูญเสียความเป็นเอกราชแผ่นดิน (ที่ไร้พรมแดน) ในยุคดิจิตอล นี้ได้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พวกฝรั่งชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชียมากขึ้นทุกที โดยจุดประสงค์ที่สำคัญก็คือ การแสวงหาอาณานิคมประเทศต่างๆ เช่น ญวน เขมร ลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทางภูมิภาคนี้ พระองค์ได้ทรงดำเนินวิเทโศบายเช่นเดียวกับ สมเด็จพระราชบิดา คือ ทรงยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องผูก สัมพันธไมตรี กับพวกฝรั่ง และจากการที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง จึงทรงนำเอาความเจริญรุ่งเรืองที่ทรงพบเห็นมาปรับปรุงประเทศชาติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือของพวกฝรั่งแต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของพวกฝรั่งชาติตะวันตกได้ โดยเฉพาะชาติอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ประเทศทั้งสองรวม 5 ครั้ง เพื่อแลกกับความเป็นเอกราชของชาติ และจากกรณีการรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นการรบทางเรือเพื่อรักษา อธิปไตยเหนือน่านน้ำไทย ระหว่างไทย กับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.112 นั้น ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนไปมิใช่น้อย
ลาวและเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทยนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนถึงกรุง รัตนโกสินทร์ แต่ในบางคราว ที่ไทยอ่อนกำลังลง พม่าและญวน ซึ่งเป็นประเทศข้างเคียงมีกำลังและอำนาจมากขึ้นลาวก็ตกอยู่ในอำนาจพม่าบ้าง ของญวนบ้าง ตามเหตุการณ์ส่วนเขมรนั้น เมื่อไทยอ่อนกำลังลงเมื่อใด ก็ยกกองทัพรุกล้ำเข้ามา และบางคราวก็อาศัยกำลังหนุนจากญวน เหตุการณ์เป็นดังนี้ตลอดมา จนกระทั่งฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลครอบคลุม ญวนและเขมร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 เมอสิเออร์ เดอลองคล์ (M.deloncle) สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสเร่งรัดให้ รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาเขตแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมรจากนั้นฝรั่งเศสก็ได้ยกกำลังทหาร เข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของลำแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตง (Lutin) เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อต้น พ.ศ.2436 โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครอง ผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยจำต้องยินยอมแต่เหตุการณ์มิได้ยุติลงเพียงนี้ ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทยขอนำเรือปืน 2 ลำ คือ เรือแองคองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคแมต (Comete) เข้ามายังประเทศไทย รวมกับเรือลูแตงที่มาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว 3 ลำ รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่าการที่ต่างประเทศนำเรือของตน เข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ เกิน 1 ลำเป็นสิ่งที่ไม่น่าปลอดภัยสำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธฝรั่งเศสไปพร้อมด้วยเหตุผลดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางฝ่ายไทยก็มิได้นิ่งนอนใจ เพราะการตอบปฏิเสธเช่นนั้น ย่อมเป็นที่ไม่พอใจของฝรั่งเศสจึงได้เตรียมการ ป้องกันตนเอง 1 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้กองทัพเรือ เตรียมกำลังป้องกันการล่วงล้ำอธิปไตยครั้งนี้ นายพลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาได้วางแผนปฏิบัติการ ป้องกันการบุกรุกของกองเรือรบ ฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา ดังนี้คือ
ครั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายัง กรุงเทพ ฯ โดยมี เรือ เจ. เบ. เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง หมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้ยิงด้วยนัดดินเปล่าเพื่อเป็นการเตือนเรือรบฝรั่งเศส ไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ในที่สุดต่างฝ่ายก็ระดมยิงโต้ตอบกันเรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือ ป้อมพระจุลจอมเกล้าต่างก็ระดมยิงไปยังเรือรบฝรั่งเศส การรบได้ดำเนินไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษก็ยุติลง เพราะความมืด เป็นอุปสรรค เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสส่วนเรือนำร่อง ถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง การเปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายฝรั่งเศส
1. เรือสลุปแองคองสตังค์ ระวางขับน้ำ 825 ตัน ความเร็ว 13 นอต ปืนใหญ่14 ซม. 3 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 1 กระบอก ปืนกล 37 มม. 5 กระบอก มีนายนาวาโท โบรี (Bory) เป็น ผู้บังคับการเรือ และผู้บังคับหมู่เรือ
2. เรือปืนโคแมต ระวางขับน้ำ 495 ตัน ปืนใหญ่ 14 ซม. 2 กระบอก ปืนใหญ่ 10 ซม. 2 กระบอก ปืนกล 37 มม. 2 กระบอก มีนายเรือเอก หลุยส์ ดาร์ติช ดู ฟูร์เนต์ (Louis Dartige du Fournet) เป็นผู้บังคับการเรือ
ฝ่ายไทย มีนายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้อำนวยการ ป้องกันปากน้ำ เจ้าพระยา
1. เรือปืน มกุฎราชกุมาร ระวางขับน้ำ 609 ตัน ความเร็ว 11 นอต อาวุธประจำเรือ ใน พ.ศ.2436 ยังไม่ทราบชัด ฝ่ายฝรั่งเศส บันทึกว่า มีปืนใหญ่ บรรจุ ปากกระบอก 15 ซม. 1 กระบอก ปืนใหญ่ บรรจุปากกระบอก 12 ซม. 5 กระบอก ปืนกล 3 กระบอก มี นายนาวาโท กูลด์แบร์ก (Commander V. Guldberg) เป็นผู้บังคับการเรือ มิสเตอร์ สมาร์ท (Mr. W. Smart) เป็นต้นกลเรือ
2. เรือปืน มูรธาวสิตสวัสดิ์ ระวางขับน้ำ 250 ตัน ปืนใหญ่ อาร์มสตรองบรรจุ ปากกระบอก 70 ปอนด์ 1 กระบอก ปืนใหญ่บรรจุ ปากกระบอก 10 ซม. 4 กระบอก ปืนกล 1 กระบอก มี นายเรือเอก คริสต์มาส (Lieutenant W.Christmas) เป็น ผู้บังคับการเรือ มิสเตอร์ แคนดุตตี (Mr. G. Candutti) เป็นต้นเรือ
3. เรือหาญหักศัตรู เรือป้อม ระวางขับน้ำ 120 ตัน ความเร็ว 7 นอต ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก 15 ซม. 1 กระบอก ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก 12 ซม. 1 กระบอก มีนายเรือเอกสมีเกโล (Lieutenant S. Smiegelow) เป็นผู้บังคับการเรือ
4. เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือราชการ ระวางขับน้ำ 260 ตัน ปืนใหญ่บรรจุ ปากกระบอก 10 ซม. 6 กระบอก มีนายทหารไทย เป็นผู้บังคับการเรือ
5. เรือทูลกระหม่อมเรือฝึก (เรือใบ) ระวางขับน้ำ 475 ตัน ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก 10 ซม. 6 กระบอก มีนายทหารไทย เป็นผู้บังคับการเรือ
6. ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปืนใหญ่อาร์มสตรอง บรรจุท้าย 15 ซม. 7 กระบอก มี นายร้อยเอก ฟอนโฮลค์ (Captain C. von Holck) เป็นผู้บังคับการ
7. ป้อมฝีเสื้อสมุทร ปืนใหญ่อาร์มสตรอง บรรจุท้าย 15 ซม. 3 กระบอก มี นายร้อยเอก เกิตส์เช (Captain T.A. Gottsche) เป็นผู้บังคับการ
8. เรือวางทุ่นระเบิด มี นายร้อยเอก เวสเตนโฮลซ์ (Captain Westenholz) เป็นผู้อำนวยการ
หลังจากการสู้รบ ฝ่ายไทย ที่มีผู้บังคับการเรือส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนต่างชาติ ไม่สามารถป้องกันภัยไว้ได้ ไทยกับฝรั่งเศสก็ได้ยุติการสู้รบกันเกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องเขตแดน ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเป็นเหตุให้ไทยเราต้องเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสเป็นเนื้อที่จำนวนมากมาย โดยที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำรงไว้ซึ่งเอกราช และอธิปไตยของไทยต่อไป
จากเหตุการณ์การสู้รบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณา เห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศ เป็นผู้บังคับการเรือ และป้อมนั้นไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือ ไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทย ทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดี จึงจะใช้การได้จึงทรงส่ง พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษา วิชาการ ทั้งใน ด้านการปกครอง การทหารบก ทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป
อย่างไรก็ตาม การจ้าง ชาวต่างประเทศ มารับหน้าที่ ป้องกันประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่อง ที่น่าไว้วางใจ ได้เสมอไป การเสียสละชีวิต เพื่อป้องกัน ประเทศชาติ โดยเจ้าของ ประเทศนั้น ย่อมจะเป็นการ ปลอดภัยกว่า กองทัพเรือ จึงได้เริ่มฝึก นายทหารเรือไทย ขึ้นไว้ เพื่อปฏิบัติงาน แทนชาวต่างประเทศ ตั้งแต่นั้นมา
จวบจนปีนี้ 2551 เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว115 ปี เรายังคงมีความภาคภูมิใจในเอกราชของชาติอยู่ แต่เนื่องด้วยระบบวิถีชีวิตของเราเองนั้น เป็นคนช่างสบาย มีความสุขดี จึงไม่่ต้องดิ้นรนขนไขว้อะไรมากมาย เป็นเหตุผลให้หลายคนมีความคิดว่า ต้องการสิ่งที่ได้มาง่ายๆ และใช้ระยะเวลาไม่นาน มองการสั้น มิใช่มองการไกล หลายครั้งๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานวันขึ้น จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย จนเราเชื่อว่าค่านิยม และกรอบความคิดนั้นๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ไม่สามารถเยี่ยวยาได้แม้กระทั่งคนผู้นั้นอาจจะมีความรู้ที่สูงส่งและจบการศึกษาจากต่างประเทศแล้วก็ตาม ประเทศชาติเราต้องการความมั่นคงที่ยัง้ยืน มิใช่แค่เป็นการฉาบฉวย ผมเคยเขียนเรื่องประเทศเวียดนาม ที่ครั้งหนึ่งเราคิดว่าต่างชาติหนีไปลงทุนที่เวียดนามกันหมดแล้ว ทิ้งประเทศไทยไปลงทุนที่เวียนดนาม เวียดนามน่าจะไปได้ในทิศทางที่ดี แล้วผ่านมาวันนี้เป็นอย่างไร พบว่าเวียดนามเงินเฟ้อถึง 25% เริ่มมีปัญหา เหตุผลง่ายๆ เพราะเราไม่รู้คำว่า "พอเพียง" แล้วพอเพียง คืออะไรนั้น มีท่านผู้รู้ให้คำนิยามอยู่มากมาย สำหรับผมให้สั้นๆ ว่า รู้จักทำรู้จักสู้ด้วยปัญญาของเราเอง หากเราทำเองไม่ได้ต้องพึ่งพาคนอื่นเขาเราก็ไม่เกิดความพอเพียง หากเรามั่วแต่ตำหนิและคิดร้ายเราโดยที่ไม่ขนไขว์ความรู้เองก็ไม่รู้จักพอเพียง การลงทุนจากนายทุนข้ามชาติไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่นักลงทุนต้องมีธรรมาภิบาล ไม่ใช่นักเกณฑ์กำไรระยะสั้น และพร้อมที่ตรวจสอบได้จากระบบที่ถูกต้อง จึงจะเกิดประโยชน์
การที่ประเทศจะเจริญได้ ต้องมั่นคงเหมือนต้นไม้ใหญ่ คนในชาติคือรากต้นไม้นั้น หากรากนั้นยังสั้นอยู่ ต้นไม้ก็โค่นลงได้เมื่อมีพายุกระหน่ำ ต้นไม้จะทนแดด ทนฝน ทนพายุอยู่ได้ตามกาลเวลาที่ฝันแปรไปได้นั้นจำเป็นต้องมีรากที่แข็งแรงจึงจะมั่นคง ฉันใด ความมั่นคงต้องเกิดขึ้นที่คนในชาติ ที่มีปัญญา ฉันนั้น ปัญญานี้ต้องเป็นปัญญาในทางสร้างสรรค์และทำกรรมดี
ท่านผู้อ่านลองใคร่ควรคิดเอาเองว่า หากเป็นสมัยนี้ การสงครามคงเปลี่ยนแนวรบใหม่ เมื่อระบบไอที และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีวันไหน เวลาใดที่เราไม่ใช้ไอที ยกเว้นเวลาเรานอน ? ขนาดนอนบางท่านยังต้องนอนในห้องแอร์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเลยใช่ไหมครับ สมูรภูมิรบสมัยนี้ได้เปลี่ยนไป ด้วยอิทธิพลโลกาภิวัติ ทำให้โลกแบน จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบล่าอณานิคม แบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ กลับมาอีกครั้งบนข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูล (Information) จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศส่วนหนึ่ง เพราะหากเราไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายข้อมูล ไม่สามารถควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารของเราเองได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับ สมัย ร.ศ. 112 ที่ทำศึกสงครามแพ้ เนื่องจาก ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นคนต่างชาติควบคุมให้ ที่ผมกล่าวไปไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำเองทั้งหมด เราควรนำสิ่งที่ต่างประเทศมีและตัดสินด้วยปัญญาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี เราจำนำมาประยุกต์ใช้และสำคัญว่าต้องควบคุมเทคโนโลยีนั้นเองได้ ด้วยปัญญา เราจึงจะเกิดความมั่นคง
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
12/06/51
บทความที่เกี่ยวข้อง
ความเปลี่ยนแปลงที่เหมือนเดิม เหล้าเก่าในขวดใหม่ (06/06/51)
ทำอย่างไรให้ IT ไทยก้าวหน้า (02/01/50)
ข้อมูล ร.ศ. 112 อ้างอิงข้อมูล http://www.wing21.rtaf.mi.th/
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น