วันศุกร์, ตุลาคม 30
สมรภูมิรบบนโลกไซเบอร์ Cyberwar
อินเตอร์เน็ต คือ โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลข่าวสารอันประกอบขึ้นจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มาเชื่อมต่อกันเป็นจํานวนมากจากทั่วโลก โดย “เครือข่ายแห่งเครือข่าย” (Network of Networks) ที่ว่านี้จะอาศัยภาษาคอมพิวเตอร์กลางร่วมกัน มี มาตรฐานกลาง (Standard Protocol) ในการรับส่งข้อมูลร่วมกัน ทำให้คอมพิวเตอร์ต่างๆ ในเครือข่ายสามารถสื่อสารกันได้ จุดเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ต คือ โครงการ ARPANet (Advanced Research Projects Agency Network) ของกระทรวงกลาโหมประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ 1960 ซึ่งเป็นโครงการทดลองเพื่อค้นคว้าหาต้นแบบของ
เครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ที่สามารถจะรับส่งข้อมูลและสื่อสารกันต่อไปได้ แม้เครือข่ายบางส่วนจะล่มสลายหรือถูกทำลายจากการโจมตีทางการทหาร
ถึงแม้ชื่ออินเตอร์เน็ตจะเริ่มเป็นที่ใช้กันตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1980 แต่ก็ ยังไม่เป็นที่ รู้จักแพร่หลายจนประมาณต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 จวบจนกระทั่งปัจจุบันมีการประมาณการตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกว่าสูงถึง 1000 ล้านคน ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่ในยุคนี้จะเป็นธุรกิจหรือบริษัทต่าง ๆ ที่ ต้องการประชาสัมพันธ์ตนเองผ่านอินเตอร์เน็ตหรือใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีสื่อใหม่นี้ในเชิงพาณิชย์ การใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตที่มุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เป็นผลจากการที่อินเตอร์เน็ตได้เข้าสู่รูปแบบใหม่ในการนำเสนอเนื้อหาสืบเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลิงค์ (hyperlink) ขึ้นที่ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเครือข่ายแห่งหนึ่งในยุโรปและการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) ที่มหาวิทยาลัย อิลินอยส์ การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งสองรูปแบบทำให้เกิดโฉมใหม่ของอินเตอร์เน็ตอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันคือ เวิรล์ ไวด์ เว็บ (World Wide Web) และนำไปสู่ลักษณะความเป็นสื่อประสม (Multimedia) อย่างแท้จริง นอกจากนั้นในยุคประมาณราวปี 1990 เองยังเป็นยุคของการถือกำเนิดของภัยคุกคามประเภทใหม่อันเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ที่อาศัยข้อได้เปรียบและประโยชน์ของเครือข่ายอินเตอร์เน็ทในการทดสอบ หรือทดลองเทคนิคใหม่ๆ ในการส่ง หรือลักลอบเข้าไปดูและใช้ข้อมูล ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นภัยคุกคามที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน
จากเอกสารผลสำรวจที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงาน คอมพิวเตอร์ ซิเคียวริตี้ อินสติติวท์/สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (CSI/FBI) ที่ได้กล่าวอ้างถึงข้างต้น และเอกสารบรรยายโดย CERT® Coordination Center สามารถสรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการโจมตีจากไวรัสคอมพิวเตอร์คิดเป็นมูลค่ามากที่สุด
การโจมตีไปยังเวบไซต์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
หน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานที่ลงทุนกับเรื่อง IT Security สูงที่สุด
ครึ่งหนึ่งของหน่วยงานผู้ถูกสำรวจ งบลงทุนทางด้าน IT Security คิดเป็นประมาณ 1-5% ของงบประมาณทางด้าน IT
การคำนวณการลงทุนทางด้านIT Security มีดังนี้
38% ใช้ Return on Investment (ROI)
19% ใช้ Internal Rate of Return (IRR)
18% ใช้ Net Present Value (NPV)
การแจ้งความลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี
87% ของหน่วยงานผู้ถูกสำรวจได้มีการทำ Security Audit เพิ่มขึ้นจาก 82% ในปีก่อนหน้านี้
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญการอบรมเรื่อง Security Awareness
แนวโน้ม
ผู้บุกรุกที่มีความเชี่ยวชาญ/ผู้บุกรุกหน้าใหม่ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
ความถี่และผลลัพธ์ในการบุกรุกมีจำนวนสูงและรุนแรงขึ้น
รูปแบบและเครื่องมือที่ใช้ในการโจมตี/บุกรุก มีความซับซ้อนขึ้น
อุปกรณ์และระบบป้องกันมีความซับซ้อนมากขึ้น
ยกตัวอย่างข่าวที่เกี่ยวกับความมั่นคงและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมาในรอบ 2 ปี
ในปี 2551-2552 ที่เป็นข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการจรากรรมข้อมูล 18 เมษายน 2551 ข่าวในผู้จัดการรายวัน "รวบแฮกเกอร์หนุ่มเจาะข้อมูล-ดูดเงินบัญชีลูกค้าแบงก์ใหญ่เกือบล้าน"
8 กรกฏาคม 2551 ข่าวจาก OKNation "เว็บสภาโดนแฮกเกอร์เปลี่ยนรูปท่านประธานชัย"
24 กรกฏาคม 2551 ข่าวจาก อสมท (MCOT) "จับแก๊งไนจีเรียใช้ไทยตุ๋นคนทั่วโลกผ่านระบบอินเตอร์เน็ต"
30 สิงหาคม 2552 ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ "ไอซีที พบ 16 จุดต่อต่อคลิปเสียงนายกฯ"
14 กันยายน 2552 ข่าวจากมติชนออนไลน์ เปิดปฏิบัติการ"ลับ"สีกากีเจาะข้อมูลป.ป.ช.-โยงอดีต "บิ๊ก ตร." -รัฐมนตรีสังกัดพลังประชาชน
29 ตุลาคม 2552 คดีปล่อยข่าวลือเรื่องหุ้น จนมีผลกระทบต่อนักลงทุน ซึ่งคดีนี้ก็ใช้ พ.ร.บ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาใช้กับการเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จซึ่งก่อให้เกิดผลต่อความมั่นคงของชาติ
ในต่างประเทศ
8 พฤษภาคม 2551 ข่าวจาก Cyberbiz ในเว็บไซต์ผู้จัดการ "เว็บไซต์โรคลมบ้าหมูถูกแฮก ทำคนอ่านลมชัก-ไมเกรนกำเริบ"
แหล่งข่าวเดียวกันในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 "เว็บประธานาธิบดีจอร์เจียย้ายโฮสไปอเมริกาหลังถูกแฮก"
13 กรกฏาคม 2552 ข่าวจาก คม-ชัด-ลึก สงครามไซเบอร์...ถล่มเกาหลีใต้ส่ง"ซอมบี้" ทำลายระบบสื่อสาร จนระบบล่มไปเกือบ 3 วัน ข่าวนี้ทำให้โลกเริ่มตะหนักถึงภัยคุกคามที่เรียกว่า "botnet" มากขึ้นและมีโอกาสที่เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ
นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตผ่าน social network ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ แม้กระทั่งพระ ซึ่งก็มีอัตราส่วนในการที่เป็นข่าวไม่เว้นแต่ละเดือน
แต่ที่หยิบยกมาเป็นเพียงบางส่วนของข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน จะเห็นได้ว่าที่เป็นข่าวพวกนี้มีเรื่องอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวข้องด้วย และมีอัตตราความรุนแรงมากขึ้นด้วย
ดังนั้นเราควรมีวิถีการดำเนินธุรกิจ การดำเนินงานของหน่วยงานราชการ และยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศ กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วต้องอาศัยเครือข่ายเชื่อมโยงของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เรียกว่า ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) ยุทธศาสตร์แห่งชาติในการทำให้ Cyberspace ได้ถูกเตรียมขึ้นเพื่อพัฒนาวิธีการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน” จะพบว่ามีหลายประเทศในปัจจุบันนี้ได้บรรจุเรื่องการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามที่มาพร้อมกับ ไซเบอร์สเปซ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นแนวรบที่สี่ (กองทัพเน็ต) นอกจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เข้าเป็นวาระแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้ว เช่นตัวอย่างในประเทศอเมริกา อดีตประธานาธิบดี George W. Bush ในเอกสาร National Strategy to Secure Cyberspace ซึ่งถูกจัดทำโดย Department of Homeland Security ในปี 2003 ได้จัดทำเรื่องงานก่อการร้ายภัยคุกคามทางอินเตอร์เน็ตเป็นวาระแห่งชาติ เป็นต้น
ภัยคุกคามที่มาพร้อมกับ ไซเบอร์สเปซ อาจก่อให้เกิดปัญหาสำหรับความมั่นคงภายใน เป็นสิ่งที่หน่วยงานกลางของรัฐบาล หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชนรวมทั้งพลเมืองในประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือและแก้ไขเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา จากการสำรวจของคอมพิวเตอร์ ซิเคียวริตี้ อินสติติวท์/สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (CSI/FBI) พบว่าในปี 2009 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าความเสียหายราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เป็นคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา เพราะหลายๆหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสนใจกับปัญหาและร่วมกันป้องกันปัญหาดังกล่าว สำนักข่าวกรองแห่งชาติในหลายประเทศ ได้เพิ่มงบประมาณในการจัดหาเทคโนโลยีเพื่อหาข่าวและสืบค้นหาผู้กระทำความผิดทางอินเตอร์เน็ตไม่ว่าในประเทศอเมริกาหน่วยงานอย่าง CIA หน่วยสืบรายการลับของกลาโหม , NSA และ NRO เป็นองค์กรพันธมิตรด้านงานราชการลับ , FAPSI สำหรับตอบโต้การจารกรรม , ในรัสเซียมีหน่วยงานชื่อ MI5 ในประเทศอังกฤษ มีหน่วยงานชื่อ GCHQ ในฝรั่งเศส ก็มีหน่วยงานชื่อ DGSE ในเยอรมันมี BND ที่ประเทศจีนมีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ
ส่วนประเทศไทย มีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , DSI สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนทเทศ ,
สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ , ศูนย์ iSOC กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทหารอื่นๆ อีกพอสมควร
จากข้อมูลพบว่าหน่วยงานในสังกัดรัฐบาลและหน่วยงานราชการได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านบุคคลากรและเทคโนโลยีในการป้องกันภัยในอัตราที่สูงมากที่สุด ข้อมูลเหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน
สำคัญว่างานด้านความมั่นคงภายในประเทศ เราควรมียุทธศาสตร์ที่ให้การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีในชาติมากขึ้นโดยพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติให้น้อยลง เพราะศึกครั้งนี้ถือว่าเป็นอนาธิปไตยที่เราทุกคนในชาติต้องร่วมมือกัน มีคำกล่าวว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่มีแล้ว จะเป็นสงครามทางไซเบอร์ แทนเพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตประจำวันของเรานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็น ธนาคารที่มีการทำธุรกรรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต , โรงพยาบาลที่มีการเก็บฐานข้อมูลคนไข้ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ , งานข้อมูลเกี่ยวข้องภาครัฐมีการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าเป็น กรมสรรพกร , ทะเบียนราษฎร์ , ข้อมูลทะเบียนรถ , ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ อื่นๆ รวมถึงการหลุดข้อมูลลับจากการค้นหาผ่าน search engine เหล่านี้ล้วนแต่เราต้องกลับมานั่งคิดไตร่ตรองถึงวิธีการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นบนความมั่นคงของชาติเราต่อไป
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
ข้อมูลข่าว
http://infosec.sran.org/?p=88
http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9510000053962
http://www.oknation.net/blog/chao/2008/07/08/entry-1
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1252844935&grpid=no&catid=02
http://www.sran.net/archives/161
http://news.mcot.net/crime/inside.php?value=bmlkPTEyMjcyNSZudHlwZT10ZXh0
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น