Pages

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 30

เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยข้อมูล ปี 2009

ภัยคุกคามที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2552 ก็คงไม่ต่างจากปี 2551 นัก แต่จะมีเทคนิคใหม่ เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้น และการสื่อสารที่หลากหลายในช่องทางเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Personal Mobile Devices ที่ใช้มือถือเชื่อมต่อข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต จะมีการใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ผ่านเว็บแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ในรูปแบบที่เรียกว่า Zombie หรือ “ผีดิบซอฟต์แวร์” จำนวนมาก ซึ่งในอนาคตผีดิบพวกนี้จะมาจากมือถือด้วย จึงทำให้จำนวนผีดิบที่มากขึ้นเรียกว่า Botnet เพื่อใช้ประโยชน์ในการโจมตีระบบเช่น DDoS/DoS ส่งผลให้เป้าหมายไม่สามารถปฏิบัติงานได้ หรือเพื่อส่งข้อมูลขยะอันไม่พึงประสงค์ (Spam) รวมถึงการหลอกลวงผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต (Phishing) ซึ่งพุ่งเป้าโจมตีมาที่ผู้ใช้งาน (End-user) โดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้งานทั่วไปเป็นเครื่องมือ สิ่งเหล่านี้ป้องกันได้หากรู้เท่าทันภัยคุกคามดังกล่าว...โดยเริ่มต้นจากตัวเราเอง

เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยข้อมูล ปี 2009 มีดังนี้
1. เทคโนโลยี Two-Factor Authentication ปัจจุบันการระบุตัวตนในโลกอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้เพียง username และ password ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่มิจฉาชีพอาจขโมยข้อมูลและปลอมตัวเพื่อแสวงประโยชน์ได้ (Identity Threat) เทคโนโลยีนี้จึงมีแนวโน้มเข้ามาอุดช่องโหว่ ด้วยการใช้ Token หรือ Smart card ID เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มปัจจัยในการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งมีความจำเป็นโดยเฉพาะกับการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และธุรกิจ E-Commerce

2. เทคโนโลยี Single Sign On (SSO) เข้าระบบต่างๆ ด้วยรายชื่อเดียว
โดยเชื่อมทุกแอพพลิเคชั่นเข้าด้วยกัน ซึ่งมีความจำเป็นมากในยุค Social Networking ช่วยให้เราไม่ต้องจำ username / password จำนวนมาก สำหรับอีเมล์, chat, web page รวมไปถึงการใช้บริการ WiFi/Bluetooth/WiMAX/3G/802.15.4 สำหรับผู้ให้บริการเป็นต้น

3. เทคโนโลยี Cloud Computing เมื่อมีการเก็บข้อมูลและใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้นตามการขยายตัวของระบบงานไอที ส่งผลให้เครื่องแม่ข่ายต้องประมวลผลการทำงานขนาดใหญ่ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีแนวคิดเทคโนโลยี Clustering เพื่อแชร์ทรัพยากรการประมวลผลที่ทำงานพร้อมกันหลายเครื่องได้ เมื่อนำแอพพลิเคชั่นมาใช้ร่วมกับเทคนิคนี้ รวมเรียกว่า Cloud Computing ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ปราศจากข้อจำกัดทางกายภาพ เข้าสู่ยุคโลกเสมือนจริงทางคอมพิวเตอร์ (visualization) เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นไอทีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green IT) ได้เช่นกัน

4. เทคโนโลยี Information security Compliance law
โลกไอทีเจริญเติบโตไม่หยุดนิ่ง ด้วยมาตรฐานที่หลากหลาย โดยเฉพาะในด้านระบบความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ จึงมีแนวโน้มจัดมาตรฐานเป็นหมวดหมู่ให้สอดคล้องกับความปลอดภัยข้อมูลในองค์กร โดยตัวเทคโนโลยีส่วนนี้จะนำ Log ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานมาจัดเปรียบเทียบตามมาตราฐานต่างๆ เช่น ISO27001 มาตราฐานสำหรับความปลอดภัยในองค์กร , PCI / DSS สำหรับการทำธุรกรรมการเงิน, HIPAA สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล หรือในเมืองไทยที่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้น โดยมีการตั้งหลักเกณฑ์การเก็บบันทึกข้อมูลจราจรขึ้น ทั้งหมดก็เพื่อต้องสืบหาผู้กระทำความผิดได้สะดวกขึ้น และหากทุกหน่วยงานให้สำคัญเรื่อง Compliance ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นทั้งผมให้บริการและผู้ใช้บริการ

5. เทคโนโลยี Wi-Fi Mesh Connection
การใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายที่แพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งต้องเชื่อมโยงผ่าน Access Point นั้น สามารถเชื่อมต่อแบบ Mesh (ตาข่าย) เพื่อเข้าถึงโลกออนไลน์ได้สะดวกขึ้น ผู้ให้บริการ Wi-Fi จึงมีแนวโน้มใช้แอพพลิเคชั่นในการเก็บบันทึกการใช้งานผู้ใช้ (Accounting Billing) และนำระบบ NIDS (Network Intrusion Detection System) มาใช้ เพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกหลากรูปแบบ เช่น การดักข้อมูล, การ crack ค่า wireless เพื่อเข้าถึงระบบ หรือปลอมตัวเป็นบุคคลอื่นโดยมิชอบ เป็นต้น

6. เทคโนโลยีป้องกันทางเกตเวย์แบบรวมศูนย์ (Unified Threat Management)
ถึงแม้เทคโนโลยีตัวนี้จะมีการใช้อย่างแพร่หลายแล้ว แต่ก็ยังต้องกล่าวถึงเนื่องจากธุรกิจในอนาคตที่มีบริษัท SME มากขึ้น และถือได้ว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรวมการป้องกันเป็น Firewall / Gatewayมีเทคโนโลยีป้องกันข้อมูลขยะ (Spam) การโจมตีของ Malware/virus/worm รวมถึงการใช้งานเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสม (Content filtering) รวมอยู่ในอุปกรณ์เดียว ที่ผ่านมาอุปกรณ์นี้มักมีปัญหาเรื่อง Performance หากเปิดใช้งานระบบป้องกันพร้อมๆกัน ซึ่งในอนาคต Performance ของอุปกรณ์นี้จะดีขึ้น

7. เทคโนโลยีเฝ้าระวังเชิงลึก (Network Forensics) การกลายพันธุ์ของ Virus/worm computer ทำให้ยากแก่การตรวจจับด้วยเทคนิคเดิม รวมถึงพนักงานในองค์กรมีทักษะใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งอาจจะใช้ทักษะที่มีในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเรียกได้ว่าเป็น “Insider hacker” จำเป็นอย่างมากสำหรับการมีเทคโนโลยีเฝ้าระวังเชิงลึก เพื่อตรวจจับสิ่งผิดปกติที่อาจขึ้นได้ ผ่านระบบเครือข่าย เพื่อใช้ในการพิสูจน์หาหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินคดีความได้

8. เทคโนโลยี Load Balancing Switch สำหรับ Core Network เพื่อใช้ในการป้องกันการสูญหายของข้อมูล (Data loss) โดยเฉพาะในอนาคตความเร็วในการรับส่งข้อมูลบนระบบเครือข่ายจะมากขึ้น อุปกรณ์นี้จะช่วยให้กระจายโหลดเพื่อไปยังอุปกรณ์ป้องกันภัยอื่นๆ ได้ เช่น Network Firewall หรือ Network Security Monitoring และอื่นๆ โดยที่ข้อมูลไม่หลุดและสูญหาย

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
27 / 11 / 51

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 27

Hidden Connection


ในรอบปีที่ผ่านมาทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสขึ้นบรรยายในงานวิชาการต่างๆ ผมมักจะพูดว่า "ความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศเริ่มจากตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อตนเองปลอดภัย เครือข่ายที่ใช้งานอยู่ก็จะปลอดภัยด้วย เมื่อเครือข่ายองค์กรในประเทศปลอดภัย ประเทศชาติก็ปลอดภัยด้วย" ปลอดภัยจากอะไร? ปลอดภัยจากการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต มิให้ตนเองตกเป็นเหยื่อยุคอินเตอร์เน็ต ดังนั้นผมจึงขอเรียกภัยคุกคามโดยรวมของปี 2552 ว่า “Hidden connection* หรือ ภัยที่ซ่อนเร้นจากการติดต่อสื่อสาร”
แนวโน้มที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี โดยในปี 2551 นี้ พบว่ามีคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการโจมตีเครือข่าย เว็บไซต์ และการตกเป็นเหยื่อจากธุรกรรมออนไลน์เดือนละไม่น้อยกว่า 2 เหตุการณ์ และมักเป็นข่าวให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นเป็นประจำ
ภัยคุกคามที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2009 ก็คงไม่ต่างจากปี 2008 นัก แต่จะมีเทคนิคใหม่ เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้น เนื่องจากโลกไอทีทุกวันนี้จะใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ผ่านเว็บแอพพลิเคชั่นมากขึ้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการ Download/Upload files จากมีเดียต่างๆ, การปรับแต่งภาพโดยไม่ต้องใช้โปรแกรม, การแต่งเพลง, การวาดแผนผังต่างๆ, การเขียน files เอกสาร หรือแม้กระทั่งปรับแต่งเว็บเพจ ซึ่งล้วนทำผ่านเว็บแอพพลิเคชั่น หรือ Google Apps ทั้งหมดนี้เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Clustering ที่เชื่อมต่อกันเป็น Visualization ซึ่งรวมๆ โลกไอทีก็ได้ศัพท์ใหม่เรียกว่า "Cloud Computing” ที่ผู้ใช้งานแทบไม่เห็นโปรแกรมที่ซ่อนอยู่ด้านหลังเว็บแอพพลิเคชั่นเลย ในโลกแห่งภัยคุกคามก็เช่นกัน Cloud Computing เป็นเครือข่ายสำคัญของการก่ออาชญากรรมสำหรับผู้บุกรุกระบบ โดยสร้าง Zombie หรือที่ผมมักใช้ชื่อว่าผีดิบซอฟต์แวร์ จำนวนมาก รวมเรียกว่า Botnet โดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้งานทั่วไปเป็นเครื่องมือ เพื่อแชร์มีเดียที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ บนเทคนิค P2P ผ่านเครือข่าย Cloud Computing และเป็นกลุ่มกองโจรที่จะใช้เทคนิค DDoS/DoS เพื่อทำให้เป้าหมายไม่สามารถปฏิบัติงานได้ หรือเพื่อส่งข้อมูลขยะอันไม่พึงประสงค์ (Spam) รวมถึงการหลอกลวงผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต (Phishing) ซึ่งเกิดจากเครื่องเสมือนบน Cloud Computing ที่พร้อมปรับเปลี่ยน domain ได้เอง ทั้งที่เกิด botnet เหล่านั้นนอกจากมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ทั่วไปแล้ว ยังมากับมือถือของคนที่กำลังเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอีกด้วย นับได้ว่าจำนวน botnet มากขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่เป้าหมายการยึดเครื่องจะเปลี่ยนไปที่ผู้ใช้งาน (User) เป็นหลัก และนี้เองคือ "Hidden Connection"
ในตอนหน้าจะกล่าวถึง "ทำอย่างไรให้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามสมัยใหม่"

ที่มา : เมื่อหลายปีก่อนมีหนังสือแต่งโดย ฟริตจ๊อฟ คาฟร้า ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ เคยเขียนหนังสือ เต๋าแห่งฟิสิกส์ (The Tao of Physics) และจุดเปลี่ยนศตวรรษ (The Turning Point) จนมาถึงหนังสือที่ผมขอนำมาเป็นชื่อภัยคุกคามสมัยใหม่ในหัวข้อนี้ ที่ชื่อหนังสือว่าโยงใยที่ซ่อนเร้น (The Hidden Connection) ที่ผมขอใช้คำนี้เนื่องจากว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภัยคุกคามสมัยในยุค Social Networking ที่โยงข้อมูลเข้าด้วยกันทั่วโลกผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต สิ่งที่ซ่อนเร้นภัยคุกคามกับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตนั้นเหมาะมากที่ขอใช้ ชื่อว่า "Hidden Connection"

อ่านต่อตอนหน้า
นนทวรรธนะ สาระมาน
20 / 11 / 51

วันพุธ, พฤศจิกายน 19

ธุรกรรมออนไลน์...ภัยร้ายแฝงเงามืด


เมื่อหลายเดือนก่อนได้เกิดคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต โดยผู้เสียหายได้ใช้บริการ Internet Banking และตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่ามีผู้ดักข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Key Logger ซึ่งคอยเก็บข้อมูลจากแป้นคีย์บอร์ดขณะใช้งาน และส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตให้กับแฮกเกอร์ ซึ่งนำข้อมูลที่ได้สวมรอยเป็นผู้ใช้งาน เข้าทำธุรกรรมทางการเงิน สร้างความเสียหายมูลค่าไม่น้อย เหตุการณ์นี้สามารถป้องกันได้ หากผู้ใช้งานและผู้ให้บริการระบบธุรกรรมออนไลน์ตระหนักและรู้เท่าทันภัยคุกคาม ตลอดจนเสริมสร้างเทคโนโลยีให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันแฮกเกอร์ไม่ได้มีเป้าหมายเจาะระบบเครือข่ายธนาคารหรือผู้ให้บริการธุรกรรมออนไลน์ เพื่อเข้าถึงชั้นความลับของลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่เปลี่ยนเป้าหมายเป็นผู้ใช้งาน (User) อินเตอร์เน็ต ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายกว่าแทน โดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น บางครั้งผู้ใช้งานอาจพยายามดาวน์โหลดโปรแกรมหรือข้อมูลบางอย่างที่แฮกเกอร์ได้เผยแพร่ไว้ตามเว็บสาธารณะยอดนิยม โดยโปรแกรมดังกล่าวมักมีชื่อที่ดึงดูดให้ดาวน์โหลด เช่น clip ฉาว, โปรแกรมเร่งความเร็ว, โปรแกรม crack serial number, โปรแกรมเกมส์ เป็นต้น เมื่อผู้ใช้งานหลงดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวมาติดตั้งในเครื่อง อาจมีมัลแวร์แฝงมากับไฟล์ ทำให้ผู้ใช้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่จ้องดักข้อมูลได้
ในแง่ผู้ใช้งานทั่วไป : ต้องป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นโดยตระหนักรู้ และควบคุมพฤติกรรมตนเองในการใช้งานอินเตอร์เน็ต บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว, ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัย, หมั่นดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีการอัพเดททั้งซอฟต์แวร์ป้องกัน และ Patch, ตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา หากต้องทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต เช่น ซื้อสินค้า หรือทำธุรกรรมทางการเงิน ให้ทำบนเครื่องตนเองที่คิดว่าปลอดภัยแล้ว เลือกช่องทางการใช้งานให้ถูกต้อง เช่น เมื่อมีการ Login ผ่านเว็บไซต์ให้ดูว่าเป็นการผ่าน HTTPS หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ไม่ควรใช้ โดยเฉพาะหากอยู่ในวง LAN ไม่ว่าจะเป็นร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หรือบริษัท เพราะอาจมีการดัก User / Password ผ่านระบบเครือข่ายได้ และควรเลือกใช้บริการธุรกรรมอินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
ในแง่ผู้ให้บริการ : แม้ผู้ให้บริการจะออกแบบระบบเครือข่ายเป็นอย่างดีจนยากที่แฮกเกอร์จะเจาะระบบเข้ามาได้ แต่แฮกเกอร์สามารถเจาะผ่านทางผู้ใช้บริการได้ และเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้นอกจากต้องอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าแล้ว ผู้ให้บริการยังต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในการระบุตัวตนผู้ใช้งาน, ดูแลความปลอดภัยของข้อมูลและวิธีการใช้งานเมื่อลูกค้าต้องทำธุรกรรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตลอดจนให้ความรู้แก่ลูกค้าให้รู้เท่าทันภัยคุกคามในปัจจุบัน
ในที่นี้ผมขอเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งที่ใช้กันอยู่มีสามรูปแบบคือ
* สิ่งที่คุณมี (Something you have) เช่น กุญแจไขประตู, บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบ Token เป็นต้น
* สิ่งที่คุณรู้ (Something you know) คือ รหัสผ่านหรือชุดตัวเลขเฉพาะ
* สิ่งที่คุณเป็น (Something you are) เป็นการพิสูจน์ตัวตนแบบชีวมาตร เช่น ลายนิ้วมือ ระบบรู้จำเสียง ระบบสแกนม่านตา เป็นต้น
สำหรับการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ตนั้น การพิสูจน์ตัวตนแบบปัจจัยเดียว (single-factor) อาจไม่รัดกุม และไม่เพียงพอต่อการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ควบคู่กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงควรใช้การพิสูจน์ตัวตนแบบสองปัจจัย (two-factor) ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ เครื่องเอทีเอ็มที่ใช้บัตรพลาสติก (สิ่งที่คุณมี) ควบคู่กับหมายเลขเฉพาะสี่หลัก (สิ่งที่คุณรู้) เปรียบเทียบกับการพิสูจน์ตัวตนทางระบบเครือข่ายคือ การใช้ระบบ Token ร่วมกับรหัสผ่านนั่นเอง วิธีนี้จะช่วยยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้นอีกขั้น และผู้ใช้บริการรายนั้นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการทำธุรกรรมของตนได้ ซึ่งระบบที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้โครงสร้างด้านความปลอดภัยแข็งแกร่งขึ้น ลดปัญหาการฉ้อฉลลงได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากระบบพิสูจน์ตัวตนแล้ว ผู้ให้บริการควรมีนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยข้อมูล ตลอดจนวิธีการปฏิบัติและการควบคุมที่เหมาะสม และควรประเมินความสามารถของเทคนิคการพิสูจน์ตัวตนที่ใช้อยู่ว่าสามารถรับมือกับภัยคุกคามและความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ การประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงภายในระบบได้ สำหรับผู้ให้บริการธุรกรรมอินเตอร์เน็ตผ่าน Web Application ที่ยังไม่ได้จัดทำระบบแบบ two factor ก็ควรมีการเก็บค่าการ Login หน้าเว็บเพื่อที่สืบได้ว่าใครเข้ามาใช้บริการบ้าง (คำว่า ใคร ประกอบด้วย IP ที่เรียกใช้บริการ ชื่อ ISP ชุดคำสั่งในการใช้บริการ ได้แก่ ชนิดบราวเซอร์ ระบบปฏิบัติการ รวมถึง Session ID ของค่า Cookie ที่เครื่องแม่ข่ายให้บริการสร้างขึ้น เป็นต้น) ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับลูกค้า เช่นเดียวกับกล้องวงจรปิดที่ติดตามตู้ ATM จะทำให้ผู้บริการเก็บบันทึก Log ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีกด้วย
มีเรื่องราวทางเทคนิคอีกมากมายที่เจาะลึกถึงการป้องกันภัยคุกคามทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากมีโอกาสจะได้นำเรียนเสนอในคราวต่อไป อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สถาบันการเงิน, ผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce ควรนำเทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตนแบบ Two-Factor Authentication มาใช้เป็นอย่างน้อย ตลอดจนให้ความรู้แก่ลูกค้าในการทำธุรกรรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อพวกมิจฉาชีพที่นับวันจะมีวิธีการที่ซับซ้อนแยบยลขึ้นทุกที

บทความหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
โดย นนทวรรธนะ สาระมาน บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด
11 / 51

วันอังคาร, พฤศจิกายน 4

มีเธอและฉันในอดีต


ในอดีตแบบเรียนภาษาไทยของเรา ได้มีตัวละครหนึ่งที่โตไปพร้อมๆกับเรา เสมือนเขาเหล่านั้นคือเพื่อนพี่น้องเราบนรูปวาดในหนังสือเรียน เมื่อเราเห็นมันอีกครั้ง ความทรงจำในอดีตก็ปรากฏขึ้น ..

แบบเรียนภาษาไทยมีอยู่ 5 ยุค
ยุคที่ 1 แบบเรียนรวมชาติ ปี พ.ศ. 2414 - 2461
ยุคที่ 2 แบบเรียนยุคชาติผู้ดี ปี พ.ศ. 2464 - 2474
ยุคที่ 3 แบบเรียนยุคชาติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 - 2502
ยุคที่ 4 แบบเรียนยุคชาติสถาบัน พ.ศ. 2503 - 2521
ยุคที่ 5 แบบเรียนยุคชาติคือหมู่บ้านในอุดมคติ พ.ศ. 2522 - 2533

ผมทันสมัยแบบเรียนยุคชาติคือหมู่บ้านในอุดมคติ เวลามองเห็นรูปพวกนี้รู้สึกตัวเองได้ย้อนอดีตนึกถึงสมัยยังเด็ก จึงขอเก็บบันทึกไว้ในที่นี้

ภาพวาดที่แสดงถึงวิถีชีวิตคนไทยในยุคสมัยนั้น (2520 - 2530) บนหนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ



ภาพวาดจากคุณเตรียม ชาชุมพร



ส่วนภาพเหล่านี้เห็นนามว่าพินิจ ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนวาด
ศิลปินนักวาดการ์ตูนในประเทศไทย ระดับตำนาน เช่น เหม เวชกร และ จุก เบี้ยวสกุล

ข้อมูลจาก ระลึกชาติในแบบเรียนภาษาไทย โดย นุชจรี ใจเก่ง
บทความเชื่อมโยงอ่านได้ที่ ยังจำกันได้หรือเปล่า จากบทเรียนสมัยประถม “มานี...มานะ...และผองเพื่อน”

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman