Pages

วันศุกร์, มีนาคม 27

อำนาจของการสื่อสาร ตอนที่ 2


เสียงเพลงจาก last.fm ดังขึ้นจากดีเจไร้นามบนโลกอินเตอร์เน็ต "กาละกาเล เวลาหมุนไป สรรพสิ่งอันใด เปลี่ยนไปตามกาล เก่าไป ใหม่มา ธรรมดาสังขาร เหลือเป็นตำนาน เล่าขานกันไป .." ชื่อเพลงกาละเทศะ ซึ่งเป็นการขับร้องใหม่ ในชุดบ้าหอบฟาง ของอัสนี วสันต์ ต้นฉบับดังเดิม ของวง Butterfly ที่มี เรวัติ พุทธินันท์ เป็นหัวเรือใหญ่ ประโยคเพลงสอดคล้องกับอำนาจของการสื่อสาร ที่ผมจะกล่าวต่อไป ผมได้พยายามพิสูจน์ทำไมการสื่อสารถึงมีอิทธิพลต่อชีวิตเรา ซึ่งที่กล่าวไปแล้วนั้นตัวแปรหนึ่งในสมการนี้คือเรื่องของเวลา และทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องของปัจจัยที่อยู่ภายนอกที่เป็นวัตถุนิยมเสียส่วนใหญ่
จะขอขยายความอีกสำหรับปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้การสื่อสารนั้นมีอำนาจต่อการใช้ชีวิต
โลกคือดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในสุริยจักรวาลซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้หยั่งรู้ถึงอายุของโลกคือประมาณ 4,500 ล้านปี และเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเริ่มเกิดขึ้น 3,500 ล้านปี เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมา ฝั่งยุโรป ได้ค้นพบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แทนที่จะเอาวิทยาศาสตร์ไปสร้างปัญญา กลับเอาวิทยาศาสตร์ไปสร้างอำนาจ จากเทคโนโลยีจากการสื่อสารเพื่อสนองตอบความต้องการของมนุษย์ ในด้านวัตถุนิยม

วิวัฒนาการของการสื่อสาร ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรจากปัจจัยภายนอก
จากความต้องการของมนุษย์ ที่ต้องการสื่อสารนำข่าวที่ต้องการส่งออกไปยังผู้รับที่อยู่ในระยะห่างไกล และต้องการให้ถึงผู้รับในเวลาที่รวดเร็วขึ้นด้วยนั้น ในขณะที่พัฒนาการด้านระยะทางยังคงจำกัดเมื่อใช้ “สื่อ” สัญญาณจากธรรมชาติดัง ดังนั้นมนุษย์ จึงได้พยายามที่จะสร้างสรรค์วิธีการให้ “สื่อ” ต่าง ๆ เหล่านั้น มีความสะดวกในการแทนความหมายของข่าวสารและทำได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมสัญญาณไฟ ควัน หรือเสียงที่ถูกจำกัดด้านระยะทาง และอาจไม่ปลอดภัยหากข่าวสารที่เผยแพร่นั้นได้ถึงมือผู้รับอื่น ที่ไม่พึงประสงค์ พัฒนาการเพื่อเอาชนะขอบเขต ของธรรมชาติ จึงได้ปรากฏขึ้น กับสิ่งประดิษฐ์แรกด้านโทรคมนาคม ที่มีพื้นฐานของการนำสัญญาณข่าวสารต่าง ๆ ที่ต้องการสื่อสารมายกระดับความสูงขึ้น เพื่อเพิ่มระยะทางจนกลายมาเป็น “โทรเลขเชิงแสง (Optical Telegraphy)” หรือที่เรียกว่าการสื่อสาร ด้วยเสาส่งสัญลักษณ์ (Semaphore Communication) อันเป็นการเปิดยุคโทรคมนาคมยุคแรก ซึ่งความหมายของยุคโทรคมนาคมนี้คือ “เป็นระบบ มีหลักการและวิธีการ ใช้งานซ้ำได้และได้รับการยอมรับ”
จากพัฒนาการของโทรคมนาคมและการสื่อสารระบบแรกที่อยู่บนพื้นด้านการใช้แสงเป็น“สื่อ” นี้ ยังมีขอบเขตจำกัดหลายด้านทำให้มนุษย์ได้พยายามคิดค้น พัฒนาระบบอื่น ๆ ตามมา เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัด ของ ระยะทาง และความเร็วของระบบก่อนๆ หน้ามาอย่างต่อเนื่อง การคิดค้นนั้นอยู่บนพื้นฐานทั้งของวิทยาการและการ ประยุกต์ใช้งานที่เป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนามาตั้งแต่อดีต ดังนี้
โทรเลขเชิงแสงหรือระบบการสื่อสารที่อยู่บนขอบเขตของการมองเห็นจากระยะไกลได้ กลายเป็นระบบโทรคมนาคมที่มีความสำคัญสูงร่วมสมัยในยุคที่ค้นพบและมีใช้งาน กว่าครึ่งศตวรรษ แม้ว่าการประยุกต์ใช้ กล้องส่องทางไกล เพื่อช่วยเพิ่มระยะทาง การสื่อสารหรือการมองเห็นได้ ระบบโทรเลขเชิงแสงนั้นก็ได้ลดความสำคัญลง เมื่อระบบสื่อสารที่มีพื้นฐานการใช้ไฟฟ้าเข้ามาทดแทน เช่น โทรเลขไฟฟ้า เป็นต้น
ต่อมาวิทยาการด้านแม่เหล็กไฟฟ้า ก็ได้ขับดัน ให้เกิดระบบโทรคมนาคมอื่น ๆ เข้ามาร่วมกับโทรเลขไฟฟ้ามากขึ้น การส่งสัญญาณโทรเลข ผ่านสายกระทำได้ในระยะทางไกลและไกล จนกระทั่ง การส่งโทรเลขสามารถ ใช้สื่อสารข้ามมหาสมุทรได้ เกิดเป็นการปฏิวัติการสื่อสารโทรคมนาคม ของโลกครั้งใหญ่ และเกิดระบบอื่น ๆ ต่อเนื่องตามมาด้วยคือ “โทรพิมพ์ (Teleprinter)” “เทเลกซ์ (Telex)” และ “เทเลเทกซ์ (Teletext)” ตามลำดับ พัฒนาการของความเข้าใจด้านไฟฟ้าและการค้นพบกฏทางไฟฟ้าต่าง ๆ(Laws of Electricity)ได้ผลักดันไปสู่การพัฒนาสายส่งสัญญาณ ที่มีคุณภาพดีขึ้น มีการลดทอน (Attenuation) และการบานออกของสัญญาณ (Dispersion) ที่น้อยลง ทำให้ระยะทางของการส่งสัญญาณ ทางไฟฟ้าทางสายส่งทำระยะได้ไกลมากขึ้น จากการสื่อสารระดับประเทศ ได้กลายเป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และต่อเข้าเป็นเครือข่าย การสื่อสารได้ทั่วทุกทวีป ในเวลาต่อมา รวมทั้งการพัฒนาเทคนิค การส่งสัญญาณจากแบบแอนะล็อก ไปสู่ดิจิทัลและเกิดระบบการตัดต่อสัญญาณ หรือเทคโนโลยีชุมสาย(Switching)ก็ได้ทำให้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมกลายเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกันมากขึ้น
จากระบบสื่อสารด้วยสัญญาณไฟฟ้า ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเหล่านั้น กอปรกับการประยุกต์ ความรู้ด้านเสียง จึงเกิดเป็นระบบโทรศัพท์ ที่มนุษย์สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ในทันที โดยไม่ต้องแปลงสัญญาณด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ส่วนวิทยาการด้านระบบอัตโนมัติ(Automation)ในขบวนการทางอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ได้มีส่วนช่วยพัฒนาระบบชุมสายเพื่อติดต่อเชื่อมโยงสัญญาณโดยได้รับการปรับปรุงจากการใช้แรงงานคน (Manual) มาเป็นระบบเครื่องกลไฟฟ้า (Electro – Mechanical Switching) หรือครอสบาร์ (Crossbar) และกลายเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงระบบดิจิทัลในที่สุด

จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เหตุการณ์หนึ่ง ของระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร เกิดขึ้นเมื่อมีการค้นพบการแพร่กระจายคลื่นวิทยุ จนสามารถนำไปประยุกต์ จนเกิดเป็น
ระบบโทรเลขไร้สาย(Radio Telegraphy)ในยุคเริ่มต้นจนถึงการสื่อสารด้วยเสียงแบบไร้สายต่อเนื่องมา ควบคู่กับพัฒนาการด้านอิเล็กทรอนิกส์ การค้นพบทานซิสเตอร์ และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ความถี่สูง ทำให้เกิดการสื่อสารระยะไกลแบบไร้สายด้วยระบบคลื่นวิทยุ (Radio Relay) ต่อเนื่องมาจากระบบไร้สายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวิวัฒนาการที่ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้า ของระบบโทรคมนาคมโลกอีกสองประเภทหลักคือ การพัฒนาหน่วยทวนสัญญาณออกไปติดตั้งนอกโลก เพื่อครอบคลุมการสื่อสาร ในวงกว้าง กลายเป็นระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม รวมทั้งการนำแสงซึ่งมนุษย์เคยได้นำมา ใช้ในระบบโทรคมนาคมแรก สำหรับโทรเลขเชิงแสงแล้วนั้น นำมาใช้สำหรับการส่งผ่านเส้นใยนำแสงได้ ด้วยความเร็วการส่งข่าวสารสูงมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ปฏิวัติโลกการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ
จากโครงสร้างของระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นได้ช่วยขับเคลื่อนวิทยาการแขนงอื่น ๆ ด้านไฟฟ้าสื่อสารด้วย เช่น การประมวลผลสัญญาณ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ให้มีความเจริญรุดหน้า เกิดเป็นการคิดค้นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครือข่ายการสื่อสาร
อินเทอร์เน็ตที่ปฏิวัติการสื่อสารของมนุษย์ไปทั่วโลกต่อมาอีกหลายครั้ง
ภาพรวมโดยสังเขปนี้ ทำให้ทราบถึงพัฒนาการ ของระบบโทรคมนาคมและการสื่อสร ที่มนุษย์สร้างขึ้นใช้งาน เพื่อข้ามขอบเขตของระยะทาง ที่ใช้ติดต่อสื่อสาร
พร้อมกับการพัฒนา ด้านความเร็วการส่งข่าวสารที่สูงขึ้น และสะดวกในการใช้งานกว่าเดิม ซึ่งมีทั้งที่ยังคงใช้งานอยู่ และที่ได้ล้าสมัยไปแล้ว วิทยาการรากฐานและการประยุกต์ทั้งหมด ได้สร้างสรรค์ระบบโทรคมนาคม บนโลกนี้มากกว่า 200 ปี
ใน 200 ปีที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การสื่อสารได้พัฒนาเป็นโลกไร้พรมแดน

อินเตอร์เน็ต มีพัฒนาการมาจาก อาร์พาเน็ต (ARPAnet) ที่ตั้งขึ้นในปี 2512 เป็นเครือข่ายคอมพิวเคอร์ของกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ในงานวิจัยด้านทหาร (ARP : Advanced Research Project Agency)

มาถึงปี 2515 หลังจากที่เครือข่ายทดลองอาร์พาประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้มีการปรับปรุงหน่วยงานจากอาร์พามาเป็นดาร์พา (Defense Advanced Research Project Agency: DARPA) และในที่สุดปี 2518 อาร์พาเน็ตก็ขึ้นตรงกับหน่วยการสื่อสารของกองทัพ (Defense Communication Agency)

ในปี 2526 อาร์พาเน็ตก็ได้แบ่งเป็น 2 เครือข่ายด้านงานวิจัย ใช้ชื่ออาร์พาเน็ตเหมือนเดิม ส่วนเครือข่ายของกองทัพใช้ชื่อว่า มิลเน็ต (MILNET : Millitary Network) ซึ่งมีการเชื่อมต่อโดยใช้ โพรโตคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol/Internet) เป็นครั้งแรก

ในปี 2528 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของอเมริกา (NSF) ได้ ให้เงินทุนในการสร้างศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 6 แห่ง และใช้ชื่อว่า NSFNETและพอมาถึงปี 2533 อาร์พารองรับภาระที่เป็นกระดูกสันหลัง (Backbone) ของระบบไม่ได้ จึงได้ยุติอาร์พาเน็ต และเปลี่ยนไปใช้ NSFNET และเครือข่ายขนาดมหึมา จนถึงทุกวันนี้ และเรียกเครือข่ายนี้ว่า อินเตอร์เน็ต โดยเครือข่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในอเมริกา และปัจจุบันนี้มีเครือข่ายย่อยมากถึง 50,000 เครือข่ายทีเดียว และคาดว่า ภายในปี 2543 จะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งโลกประมาณ 100 ล้านคน หรือใกล้เคียงกับประชากรในโลกทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยนั้น อินเตอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทอย่างมากในช่วงปี 2530-2535 โดยเริ่มจากการเป็นเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ระดับมหาวิทยาลัย (Campus Network) แล้วจึงเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2535และ ในปี 2538 ก็มี การเปิดให้ บริการอินเตอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ (รายแรก คือ อินเตอร์เน็ตเคเอสซี) ซึ่งขณะนั้น เวิร์ลด์ไวด์เว็บกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ต และสิ่งสำคัญของระบบอินเตอร์เน็ตก็คือ เว็บ (Web) และ เวิร์ลด์ไวด์เว็บ (World – Wide Web) บริการนี้ ถือว่าเป็นบริการที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด

เพียงไม่ถึง 40 ปีจากวิวัฒนาการอินเตอร์เน็ต และอีกไม่เกิน 10 ปีโลกก็ได้รู้จักระบบสืบค้นอย่าง yahoo และ google การเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตยุคใหม่ก็ทำให้มนุษย์ยิ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของการสื่อสารมากขึ้น จนผู้คนส่วนหนึ่งในประเทศจีนต้องไปหาหมอในโรคที่ไม่มีเคยมีใครคิดว่าโรคนี้จะมีด้วย คือ โรคติดอินเตอร์เน็ต ต้องออนไลท์ตลอดเวลา หรือ บารัค โอบาม่าประธานาธิบดีสหรัฐ คนล่าสุดก็ยังต้องตรวจอีเมลล์ผ่านมือถือตลอดเวลา

ผมขอหยิบสถิติตอนหนึ่งของหนังสือ อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ได้ในชื่อเรื่องการปลูกฝังความรู้ (Embedding inteligence) ไว้อย่างน่าสนใจว่า "วันนี้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพีซี (PC) กว่า 800 ล้านเครื่อง เท่ากับหนึ่งเครื่องต่อประชากรเจ็ดหรือแปดคน วันนี้มีชิพคอมพิวเตอร์มากกว่า 500,000 ล้านอันทั่วโลก ชิพจำนวนมากบรรจุทรานซิสเตอร์ (สวิตช์ปิด - เปิด) กว่า 100 ล้านตัว และฮิวเล็ตต์-แพ็คการ์ดได้พบวิธีที่จะบรรจุทรานซิสเตอร์ ขนาดเท่าโมเลกุล จำนวนหลายพันล้านตัวลงบนชิพคอมพิวเตอร์หนึ่งอัน
วันนี้เรามีสวิตช์ดิจิตอลประมาณสี่พันล้านอันที่คลิกปิด-เปิด ต่อมนุษย์หนึ่งคนที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้
มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 1.7 พันล้านเครื่อง ในขณะเดียวกันก็มีการประเมินจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในโลกทั้งหมดว่าอยู่ระหว่าง 800 ล้านคน ถึง 1,000 ล้านคน และมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน" ตรงใจผมต้องที่ใช้คำว่าวันนี้ ซึ่งคำว่าวันนี้ อาจเป็นเมื่อวานนี้สำหรับบางคน และกลายเป็นอดีตต่อไป จากการเคลื่อนไหวของเวลา จากสถิติของวันนี้จึงกลายเป็นอดีต ซึ่งสถิติพวกนี้มีแนวโน้มสูงคนด้วยอำนาจของการสื่อสาร ที่บีบให้โลกนี้แบน สังคมบริโภค ทุนนิยมที่เรารู้จักกันดีว่าจะนำความสะดวกสบายให้กับชีวิตของเรา
จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ นั้นไม่มีใครตอบได้ แต่ที่แน่
อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าขยะจากทรานซิสเตอร์ที่ฝังทั้งในมือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะไปอยู่ที่ไหน ?

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงการมองในมุมภายนอก หรือ เรียกว่ามองโลกในเชิงวัตถุ
หากจะมองในมุมภายใน ก็ยังมีการสื่อสารที่ติดต่อซึ่งกันภายในร่างกายมนุษย์ บางส่วนจาก ของ หนังสือ วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี มาเพื่อสนับสนุนความคิดด้านการสื่อสารภายใน ที่กล่าวว่า "มีระบบการสื่อสารที่รู้ถึงกันทั้งหมด ระบบร่างกายทั้งหมดรู้ถึงกันเพื่อการรักษาดุลยภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่างกายใช้ระบบข้อมูลข่าวสารอย่างน้อย 3 ระบบด้วยกันคือ
1. ดีเอ็นเอ (DNA)
2. ระบบประสาท
3. ระบบสารเคมี

ดีเอ็นเอ (DNA) เป็นรหัส หรือ ข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่มีอยู่ในทุกเซลล์ที่กำหนดโครงสร้างและการทำหน้าที่ของเซลล์ ทุกเซลล์จึงมีข้อมูลข่าวสาร
ระบบประสาท ที่เชื่อมโยงทุกชุมชนของร่างกายเข้ากับสมองเพื่อให้สมองรู้ทั้งหมด ถ้าสมองไม่รู้ทั้งหมดจะไม่สามารถรักษาดุลภาพในร่างกายได้ สารเคมีอยู่รอบและในทุกเซลล์ สารเคมีเหล่านี้มีส่วนที่เป็นข้อมูลข่าวสารให้เซลล์รู้
จะเห็นได้ว่า ร่างกาย "ลงทุน" ในระบบสื่อสารอย่างเข้มข้นเพื่อให้ระบบทั้งระบบรู้ถึงกัน จะได้สามารถปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาดุลยภาพ หรือ ความเป็นปรกติของระบบได้
ระบบร่างกายเป็นตัวอย่างของระบบที่มีความเป็นระบบเดียวกัน ที่มีความสอดคล้อง สมดุล ความเป็นปรกติ และความยั่งยืน สังคมไม่เป็นอย่างนั้น ห่างไกลจากความเป็นอยา่งนั้น มนุษย์ทั้งหมดไม่ได้มีจิตเดียวกัน มีความเห็นแก่ตัว แย่งชิง เกี่ยงกัน หรือทำร้ายกัน ขาดหน่วยพื้นฐานทางสังคมซึ่งน่าจะตรงกับชุมชน ชุมชนที่เคยมีก็ล่มสลายไปด้วยการพัฒนาสมัยใหม่ที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล ทำให้มนุษย์ขาดภูมิคุ้มกัน ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ยังใช้เพื่อการกระตุ้นวัตถุนิยม บริโภคนิยม มากกว่าเพื่อการรู้ตัวเอง และความประสานสอดคล้องของสังคม"

ส่วนนี้กล่าวมาเป็นตัวแปร ที่เรียกว่าปัจจัยภายใน ซึ่งในภายในนี้ก็มีการสื่อสารกันในร่างกาย ในระดับเซลล์ จนถึงประจุไฟฟ้าอิเล็คตอนทั้งที่เป็นขั้วบวกและขั้วลบ วิ่งในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งปัจจัยภายในนี้เองมีระบบสื่อสารที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด

ย้อนกลับมาที่สมการ
X + Y = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต หากผมให้ Y คือ เวลา
ดังนั้น X คืออะไร X ประกอบด้วย n ที่เป็นตัวแปรทำให้ X มีคุณค่า นั้นคือ
Xn+ เวลา= อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต
X ประกอบด้วย ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายใน
ส่วน n ก็คือ มนุษย์
X ที่เป็นปัจจัยภายนอก คือ ความเจริญของเทคโนโลยี สังคมทุนนิยม ที่ทำให้โลกเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อและศรัทธา รวมถึงความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต ที่ประสานกันจนดูเหมือนโลกทั้งใบนั้นแบนราบ ตามที่หนังสือ The World is Flat ได้กล่าวไว้ เมื่อทำการ เสริมตัวแปรจากเวลา ด้วยทำให้เกิดคำว่า ล้าสมัย และทำให้เกิดคำว่าทันสมัย
X ที่เป็นปัจจัยภายใน คือ อายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ที่เกิดจากปฏิกริยาเคมีและการสื่อสารภายตัวของมนุษย์ เมื่อ มนุษย์ได้รับรู้กับสิ่งเล้ารอบข้าง เกิดการลองผิดลองถูก จนได้เรียนรู้ ทำให้เกิดประสบการณ์ และการประยุกต์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างความผาสุข ในการดำเนินชีวิต

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สมการที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นอาจเขียนได้ดังนี้
(ปัจจัยภายนอก x มนุษย์ ) + เวลา = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต
(ปัจจัยภายใน x มนุษย์) + เวลา = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต

ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ มนุษย์ หากมนุษย์ เข้าใจถึง ความจริง ความงาม และความดี แล้ว อิทธิพลการสื่อสารที่มีผลต่อการใช้ชีวิตจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ และเป็นหนึ่งเดียวกันจากความเป็นครอบครัวเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน ท้องถิ่นเดียวกัน ประเทศเดียวกัน และโลกเดียวกัน การประสานเป็นหนึ่งเดียวด้วยความเกื้อกูลกันจะทำให้อำนาจของการสื่อสารเข้าถึงยุคแห่งความงาม และความดีต่อไป


ประกอบสนับสนุนแนวคิดนี้ จาก
หนังสือ บทสารานุกรมโทรคมนาคมไทย
หนังสือ Revolution Wealth
หนังสือ Third wave
หนังสือ The World is Flat
บทความของคุณเปลวสีเงิน
บางส่วนจากพระพุทธทาส เทศนาธรรมะกับวิทยาศาสตร์ ปี 2521
ผ.ศ.สดชื่อ วิบูลยเสข เรื่องเจาะเวลา หาเวลา
การสื่อสารของมนุษย์ ของ อาจารย์มารยาท ประเสริฐ
การเข้าถึงสิ่งสูงสุด ความจริง ความงาม ความดี
และ วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 26

อำนาจของการสื่อสาร ตอนที่ 1


ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากการสื่อสารไม่ได้แล้ว หากผมตั้งคำถามนี้เป็นสมการคณิตศาสตร์แล้ว เช่น X + Y = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต
ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุใดการสื่อสารมีอำนาจต่อชีวิตของเราและคนทั่วโลกอย่างไร
ในตอนแรกนี้จะเป็นการถอดสมการเพื่อพิสูจน์ถึงเหตุผลว่า "เราสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากการสื่อสารไม่ได้" ผมขออธิบายดังนี้
1. ความหมาย องค์ประกอบของการสื่อสาร และ โทรคมนาคม
2. การสื่อสาร โทรคมนาคมและเวลา
3. อำนาจการสื่อสารที่เป็นไปตามเวลา

เพลโต้ (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก เคยกล่าวว่า ยุคของมนุษย์มีสามยุค คือ ยุคแห่งความจริง ยุคแห่งความงาม และ ยุคแห่งความดี
หากสิ่งไอทีและการสื่อสาร คือความจริง เราสามารถสรรค์สร้างไอทีและการสื่อสาร นั้นให้งดงามได้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปสู่ความดี เพื่อให้สังคมโดยส่วนรวมเกิดประโยชน์ ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจความหมายของการสื่อสารและนำความจริงจากอำนาจของการสื่อสารมาสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น บทความนี้ก็ต้องการให้เดินตามความคิดของเพลโต้ ให้เข้าใจถึงความจริงบนไอทีและการสื่อสาร เพื่อประยุกต์ใช้งานให้เกิดความงาม ด้วยคุณธรรมและความดีต่อไป

องค์ประกอบของการสื่อสาร
๑. บุคคล ๒ ฝ่าย
๒. วิธีการติดต่อ
๓. เรื่องราวให้รับรู้ความหมายร่วมกัน
ความหมายของการสื่อสาร
สื่อ คือ การใช้วิธีพูด-เขียน หรือการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้รูปภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ โดยวิธีการติดต่อนั้นต้องใช้ตัวกลางต่างๆ เช่น คลื่นเสียง ตัวหนังสือ แผ่นกระดาษที่มีตัวหนังสือเขียน คลื่นวิทยุโทรทัศน์ ตัวกลางเหล่านี้เรียกว่า สื่อ โดยการสื่อสารนั้นสามารถใช้สื่อหลายๆอย่างได้พร้อมๆกัน เช่น การเรียน การสอน ต้องใช้ทั้งหนังสือ กระดาน ภาพ

สาร คือ เรื่องราวที่รับรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อเท็จจริง ข้อแนะนำ การล้อเลียน ความปรารถนาดี ความห่วงใย มนุษย์จะแสดงออกมาให้เป็นที่รับรู้ได้ การสื่อสารจะเกิดขึ้นตามกาลเทศะ และสภาพแวดล้อมต่างๆในสังคม

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร

๑. วัจนภาษา (การพูด การเขียน)
๒. อวัจนภาษา (เครื่องหมาย สัญญาณมือ)

อวัจนภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร การแสดงออกทางดวงหน้า การแสดงออกทางดวงหน้านั้นเป็นเครื่องแสดงเจตนาการสื่อสารได้หลายอย่าง เช่น ขอร้อง ขมขู่ การใช้น้ำเสียง คำพูดคำเดียวกัน เปล่งออกไปด้วยน้ำเสียงที่ต่างกัน จะสื่อความหมายต่างๆกันไปได้ ขึ้นอยู่กับความดังและเสียงสูง-ต่ำ เช่น ถ้าพูดหรือเน้นคำพูดนั้นดังๆ ก็จะเป็นการเตือนได้

แม้แต่บทความของ การสื่อสารของมนุษย์ ของ อาจารย์มารยาท ประเสริฐ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย ได้กล่าวถึงคุณธรรมของการสื่อสาร ได้อย่างสอดคล้องกับการเข้าถึง ความจริง ความงาม และ ความดีของเพลโต้ ได้ว่าคุณธรรมในการสื่อสารความมีสัจจะและไม่ล่วงละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน ความรัก ความเคารพและความปรารถนาดีต่อกัน
ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดหรือกระทำ

จะเห็นได้ว่าผมไม่ได้หมายถึงการสื่อสารที่เราเห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้นแต่เป็นการสื่อสารที่รวมไปถึงการแสดงออกที่เป็นนามธรรมด้วย ทีนี้ลองมาดูความหมายของการสื่อสารและเทคโนโลยีกันบ้าง

ในบทสารานุกรมโทรคมนาคมไทยได้เขียนไว้ว่า
" ข่าวสารหรือสิ่งที่มนุษย์ต้องการที่จะสื่อสารให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลได้รับรู้นั้นในอดีตก่อนที่จะได้มีการพัฒนาระบบโทรคมนาคม การนำส่งสารดังกล่าวกระทำได้ด้วย“ผู้นำสาร(Messenger/Courier)” ที่จะนำเอาข่าวสารไปส่ง อาจจะด้วยการเดินเท้า หรือคมนาคมอื่น ๆ เช่นนำส่งด้วยยานพาหนะหรือสัตว์ที่มีอยู่ในแต่ละยุคสมัยทั้งทางบกและทางน้ำ จนกระทั่งมนุษย์ได้พัฒนา “สื่อ” ธรรมชาติที่สามารถเตรียมข่าวสารให้ส่งได้รวดเร็วขึ้นกับระยะทางที่อยู่ห่างไกลของผู้รับด้วยการส่งสัญญาณไฟ ควัน หรือสัญญาณเสียงต่าง ๆ ซึ่งเป็นสื่อที่เดินทางไปได้ไกลหรือผู้รับสามารถได้ยิน มองเห็นหรือสังเกตได้จากระยะไกล แต่ระยะทางที่สื่อสารได้ก็ยังคงจำกัด ตั้งแต่อดีตกาล จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นที่เด่นชัดว่า ภาวะสงคราม เป็นสาเหตุหลัก ที่ขับดันให้มนุษย์ คิดค้นวิธี ที่จะจัดส่งข่าวสาร ให้ได้รวดเร็วที่สุด เนื่องจาก “สื่อ” ที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา มีความสามารถและระยะทางที่สื่อสารได้อย่างมีขอบเขตจำกัด เช่น สัญญาณไฟ มีข้อจำกัดการใช้งานเฉพาะช่วงเวลากลางคืน หรือในช่วงทัศนวิสัยที่เหมาะสม รวมถึงสัญญาณควันที่คล้ายคลึงกัน ส่วนสัญญาณเสียงจากกลอง แตร หรือต้นกำเนิดเสียงร่วมสมัยอื่น ๆ นั้นก็มีระยะทางที่ผู้รับจะสังเกต หรือได้ยินที่จำกัดเช่นกัน ในที่สุดมนุษย์ จึงได้คิดค้นต่อยอด ในการขยายระยะดังกล่าวนั้นออกไป ด้วยการสร้างประภาคารเพื่อส่งสัญญาณดังกล่าว (ไฟและควัน) ให้ได้ไกลขึ้นหรือสังเกตได้จากระยะที่ไกลขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นระบบการสื่อสารแรกของมนุษย์ ที่เกินขอบเขตปกติของ “สื่อ” ที่สร้างได้จากธรรมชาติ โดยที่อยู่บนพื้นฐาน ของการสื่อสารเชิงแสง ( Optical Communication สื่อสารด้วยสัญญาณเชิงแสงลักษณะนี้ได้กลายเป็นระบบโทรคมนาคมระบบแรก"

ความหมายของโทรคมนาคม
ความหมายที่มีต่อคำว่า “โทรคมนาคม (Telecommunication)” ได้รับการนำเสนอไว้ในแหล่งข้อมูลหรือจากการนิยามของผู้รู้และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิค ประวัติศาสตร์และภาษาจำนวนมาก เช่น

1) คำว่า “โทร” มีพื้นฐานมาจากคำว่า “tele” ในภาษากรีก หมายถึง “ไกลออกไป (far away)” และคำว่า “คมนาคม (Communication)” มาจากภาษาละตินพื้นฐานของคำ “Communicare” หมายถึงการใช้งานร่วมกับผู้อื่น ความหมายรวมพื้นฐานจึงได้รับการนำเสนอว่าการสื่อสารที่ครอบคลุมระยะทางที่ไกลออกไป

2) จากคำศัพท์มาตรฐานของสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(Institute of Electrical and Electronics Engineers)ให้คำนิยามโทรคมนาคมว่า การสื่อสัญญาณระยะทางไกลเช่น โดยใช้โทรเลข วิทยุหรือโทรทัศน์ เป็นต้น

3) พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปีพ.ศ.๒๕๔๒ ระบุว่า “โทรคมนาคม” หมายถึง การส่ง การกระจาย หรือการรับภาพ เครื่องหมาย สัญญาณ ข้อเขียน เสียง หรือการกระทำให้เข้าใจด้วยวิธีใด ๆ โดยอาศัยระบบสาย วิทยุสื่อสาร หรือระบบแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ

4) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ได้ให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อคำว่าโทรคมนาคมในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. 1932) ว่า “การสื่อสารใด ๆ ไม่ว่าจะด้วยโทรเลขหรือโทรศัพท์ เพื่อส่งสัญลักษณ์ สัญญาณ ข้อความ ภาพและเสียงใด ๆ ทางสายส่ง คลื่นวิทยุ หรือระบบอื่น ๆ หรือกระบวนการส่งสัญญาณทางไฟฟ้าหรือการมองเห็น (เสาส่งสัญลักษณ์) ต่างๆ

5) คำว่า “Telecommunication” ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเป็นทางการ โดยพื้นฐานมาจากหนังสือของเอดวาร์ด เอสโทนี (Edouard Estaunie) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๔๘๕ (คศ. 1862-1942) โดยหนังสือดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส “Traité pratiqus de télécommunication electrique (télégraphie-téléphonie)” ซึ่งได้นิยามความหมายของคำว่าโทรคมนาคมไว้อย่างมีข้อจำกัดคือ “การแลกเปลี่ยนข่าวสารด้วยสัญญาณทางไฟฟ้า (Information exchange by means of electrical signals)” อันเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นหลักสำหรับระบบการสื่อสารในสมัยนั้น

6) คำจำกัดความที่เด่นชัดของการรวบรวม“ประวัติโทรคมนาคมโลก(The Worldwide History of Telecommunications)”โดยแอนทัน ฮวร์ดเดอร์มัน (Anton A. Huurdeman) นิยามให้โทรคมนาคมคือ “เทคโนโลยีแขนงหนึ่งซึ่งใช้ช่วยลดระยะทางระหว่างทวีป ประเทศ หรือระหว่างบุคคล”

ส่วนหนึ่งของคำจำกัดความเรื่องโทรคมนาคม และการสื่อสาร ซึ่งอ่านคำจำกัดความทั้งหมดได้ที่
สารานุกรมโทรคมนาคมไทย

จากความหมายของคำว่าโทรคมนาคมทั้งหมดดังกล่าว เกิดจากความคิดที่จะกำหนดหรือนิยามอันอยู่บนพื้นฐานของสองมูลเหตุหลัก คือ ทางด้าน “ภาษาศาสตร์” ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดของคำในภาษาท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าของสังคมนั้น ๆ ที่อาจแตกต่างกันไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละสังคมและภาษาทั่วไปได้ให้ความหมายถึงนัยที่คล้ายกัน รวมทั้งประเด็นของมูลเหตุ “เทคโนโลยีร่วมสมัย” ที่ปรากฏมีใช้อยู่ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้ความหมายของ “โทรคมนาคม” อาจต้องปรับตามให้ทันสมัยต่อมาในภายหลังด้วย (เช่น ความหมายจาก จ) ที่ยังมิได้รวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่กว่าเข้าไปด้วย) โดยรวมแล้วของความหมายทั้งทางด้าน “ภาษา” และ “เทคโนโลยี” ดังกล่าวนี้สามารถนำมาพิจารณาร่วมกันให้ครอบคลุมทั้งทางด้านภาษา พื้นฐาน ความหมายและเทคโนโลยีร่วมสมัยหรือเทคโนโลยีที่ได้รับการคาดการณ์สำหรับประยุกต์ใช้กับระบบโทรคมนาคมแล้วด้วย
ดังนั้นสารานุกรมโทรคมนาคมไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ นำเสนอความหมายของคำว่า “โทรคมนาคม” คือ
การสื่อสารที่ช่วยลดระยะทางระหว่างบุคคลอุปกรณ์หรือระบบอัตโนมัติที่สร้าง ขึ้นเพื่อใช้สำหรับการส่งแพร่กระจายหรือนำพาด้วยวิธีการทางกลไฟฟ้า แสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ทางควอนตัม สำหรับการสื่อสัญญาณ สัญลักษณ์ ข้อความ เสียง ภาพหรือสื่อประสมให้ผู้รับหรือระบบสามารถเข้าใจได้

ทั้งหมดที่กล่าวขั้นต้นนั้นคือความหมายของโทรคมนาคม การสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เรามีความผูกพันธุ์กับการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ

เรามามองในแง่ การสื่อสาร กับเวลา บ้าง
ความหมายของเวลา จากบทความของผ.ศ.สดชื่อ วิบูลยเสข เรื่องเจาะเวลา หาเวลา ได้ให้ความหมายเวลา ว่า "เวลาเป็นมิติที่สี่เทียบเท่ากับมิติทั้งสาม(-กว้าง -ยาว-ลึก)ของอวกาศ (space) โดยการคิดเช่นนี้ กาลวกาศทั้งสิ้นทั้งปวงจะสามารถแสดงได้ด้วยแผนที่กาลวกาศสี่มิติ ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของเอกภพจะปรากฏอยู่บนแผนที่กาลวกาศนี้ทั้งหมด นั่นคือความหมายของเวลาในฟิสิกส์ซึ่งไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ"

คนทุกคนมีความหมายของเวลาในบริบทของตนเอง ทุกคนรู้ว่าเวลาคืออะไร แต่ไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ หากถามนักฟิสิกส์ จุดที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับเวลาคือ เวลาเป็นระบบอ้างอิงที่ใช้เรียงลำดับก่อนหลังของการเกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์หนึ่งมาก่อนอีกเหตุการณ์หนึ่งในระบบนี้ ถึงแม้การกล่าวเช่นนี้จะสามารถนิยามลูกศรแห่งเวลาได้ แต่ก็ไม่มีกฏเกณฑ์ใดเลย ที่บ่งบอกว่าเวลาผ่านจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและไปสู่อนาคต เวลาทั้งหลายมีสถานภาพทัดเทียมกัน
เช่นเดียวกับท่านพุทธทาสได้กล่าวเทศนา เรื่องธรรมะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ทุกรูปแบบ ก็ได้กล่าวถึงความหมายของเวลา เช่นเดียวกัน

แล้ว เวลาเกี่ยวอะไรกับการสื่อสาร ?
ยอมรับว่า คำว่าล้าสมัย เกิดขึ้นเร็วมาก ในยุคที่มีการก้าวหน้าด้านการสื่อสาร ไม่ว่าเป็นเครื่องพิมพ์ดีดกลายเป็นอดีตเครื่องมือหลักของนักเขียนไส้แห้ง หรือใช้เป็นการสื่อสารให้กับผู้อื่นได้อ่านรับทราบข้อมูล หรือจะเป็นโทรเลข (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอำลาโทรเลข http://nontawattalk.blogspot.com/2008/04/blog-post_29.html ) หรือโทรศัพท์หยอดเหรียญ หรือจะเป็นเพจเจอร์ ที่ร้องเตี๊ยดๆ ตลอดในช่วงเวลาสิ้นปีขึ้นวันใหม่ของปีใหม่ และใช้ในการนัดหมายกันในอดีตแทนมือถือนั้นราคาแพง ผมยังทันบรรยากาศ สิ่งของดังกล่าวที่ว่าเป็นเรื่องล้าสมัยนั้น

ความล้าสมัยเกิดขึ้นได้จาก เวลา และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งบทความนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยได้เช่นกัน เมื่อเวลาได้ดำเนินเดินทางต่อเนื่องไปนับจากนี้

ความล้าสมัยจะเห็นได้ชัด ในไอที โดยเฉพาะโลกอินเตอร์เน็ต ผมสังกตเห็น เทคโนโลยีบางอย่างกลายเป็นของหายากและสูญพันธ์ไป ยกตัวอย่าง รูปแบบของเว็บเพจ เมื่อก่อนเป็นแบบเว็บนิ่ง (Static Web Site)ข้อมูลต้องเพิ่มเองจากผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster) มาไม่กี่ปี เว็บไซต์สมัยนี้เรียกว่า web 2.0 ที่ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับข้อมูลบนเว็บไซต์ได้ จนกลายเป็นสังคมเครือข่ายเสมือน (Social Network) ความล้าสมัยยังรวมไปถึงไวรัสคอมพิวเตอร์ หากผู้ดูแลระบบคนใดเคยคุมระบบในช่วงปี 2001 คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักไวรัสที่แพร่กระจายตัวเองได้ หรือ เรียกว่า หนอนคอมพิวเตอร์ (worm) ที่ชื่อ Nimda ซึ่งถ้ากลับคำใหม่ ก็คือคำว่า Admin นั้นเคยสร้างความเสียหายจนระบบเครือข่ายทั่วโลกแทบใช้การไม่ได้ ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน ภัยร้ายจากไวรัสหนอนคอมพิวเตอร์ Nimda ก็กลายเป็นเพียงแค่อดีต หากเป็นยุคนี้ก็ต้องบอกว่า Nimda ได้หายสาบสูญไปแล้ว คงเป็นเรื่องตลกแย่หากมีคอมพิวเตอร์ที่บริษัทติดไวรัส Nimda อยู่
เทคโนโลยีพวกนี้อาจใช้ได้กับเมื่อมีสิ่งหนึ่งที่ดีกว่าเร็วกว่าสนองตอบได้ดีกว่า สิ่งเดิมที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นของล้าสมัย

เวลากับสื่อ (Media Time) ตอนหนึ่งในหนังสือ Revolution Wealth ความมั่งคั่งปฏิวัติ แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล
กล่าวว่า สื่อที่มาตามเวลานั้นตายไปหมดแล้ว สื่อทุกวันนี้ต้องเป็นสื่อที่คนอยากดูเมื่อไหร่ก็ต้องได้ดู เรียกว่าการบริโภคสื่อตามใจฉัน เบ็ตซี แฟรงก์ (Betsy Frank) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวางแผนของ MTV Networks บอกว่า "นี่คือผู้ชมที่อยากทำตารางดูทีวีของตัวเอง" ตอนนี้มีเครื่องมือใหม่ๆ ที่มอบอำนาจให้ผู้ชมสามารถตัดต่อบางส่วนของรายการทีวีให้สอดคล้องกับรสนิยมของตัวเอง ในขณะเดียวกันกับที่ผู้ชมผลิตเนื้อหาเอง พวกเขาก็เรียกร้องให้สามารถเข้าถึงรายได้แบบ "ตามใจตัวเอง"
ศูนย์ข่าว CNN มีนาฬิกาบอกเวลา เพียงเข็มเดียว คือเข็มนาที และผู้ประกาศข่าวไม่กล่าวคำว่า อรุณสวัสดิ์ ไม่กล่าวคำว่า ราตรีสวัสดิ์ ไม่มีคำว่า ลาก่อน หรือ พบกันใหม่ แต่พวกเขาจะกล่าว ว่า ขอต้อนรับเข้าสู่ข่าว เป็นเช่นนี้ตลอด 24 ชั่วโมง
ผมขอยกตัวอย่างสื่อในอดีต เราต้องตั้งหน้าตั้งตารอดูรายการต่างๆ ตามกำหนดเวลาที่จัดตั้งไว้ เช่น รายการนี้แสดงตอน 3 ทุ่มเราต้องทำธุระต่างๆให้เสร็จก่อน 3 ทุ่มถึงจะดูรายการนั้นได้ ปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสาร ได้เปลี่ยนโลกนี้ไปให้หยิบสื่อได้สะดวกขึ้นหากเราเข้าสู่ ไอ ที ในโลกอินเตอร์เน็ต ผมขอยกตัวอย่างเช่น Youtube
ซึ่งตัวอย่าง Youtube เห็นได้ชัดถึงวิถีทางการเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ได้ชัดเจน วูบหนึ่งในความคิด เราคิดถึงการชกมวยของนักชกผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย คือ เขาทราย กาแล็คซี่ ผมอยากดูการชกมวยของเขาทราย ก็แค่พิมพ์เขาทรายใน youtube เราก็สามารถดูอดีตที่เขาทรายได้ชกกับคู่ต่อสู้ได้ เกือบทุกไฟล์ เพลงบางเพลงที่เราหาฟังจากดีเจ ไม่ได้ (ดีเจ สมัยนี้อาจจะอยู่ข้างบ้านคุณก็ได้ ที่กำลังเปิดเพลงสนั่นหวั่นไหวในยามคำ่คืน ผ่านโปรแกรม Camfrog เรียกร้องให้คนฟังร่วมสนุกผ่านจอคอมพิวเตอร์) ถึงแม้ที่บ้านจะมีเทปเพลงชุดนี้ แต่เทปคลาสเซ็ตที่ขึ้นรา นั้นไม่สามารถฟังได้ หากเราต้องการฟังเดี๋ยวนั้น เราทำได้ผ่านสื่อที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต เช่นผมต้องการฟังเพลง ดีใจ ของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ชุด แดนศิวิไลซ์ ผมค้นหาใน Youtube ก็มีคนนำเพลงนี้มาเปิดให้ฟัง หรือเพลงอื่นๆ ก็สามารถค้นหาใน imeem หรือ ijigg นึกง่ายๆ ว่าอยากรู้อะไรเราเพียงพิมพ์ข้อมูลลง Google ก็ได้ตามที่ใจเราต้องการอินเตอร์เน็ตกลายเป็นระบบสื่อสารที่คลุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ของมนุษย์ ทั้งคำว่า ตามใจตัวเอง และ เร็ว เร็ว และ เร็ว ทำให้วิถีชีวิตคนยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแปลง นี้กระมั่งที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กยุคไอที มีความอดทนต่ำต่อสิ่งเล้าภายนอก และเป็นค่าตัวแปรหนึ่งที่พิสูจน์ถึงอำนาจของการสื่อสาร ที่ผมพยายามพิสูจน์สมการนี้ให้เห็นภาพมากขึ้น

ตัวแปรที่สำคัญคือเวลา นั่นเอง เวลาทำให้โลกดูเหมือนหมุนเร็วขึ้น ทำให้ชีวิตคนเราอะไรต่อนี้อะไรได้มากขึ้น เป็นนักผจญภัยโดยส่องกล้องทางไกลผ่าน Google Earth หรือ Google Maps ก็สามารถเห็นสถานที่ที่เราต้องการได้เพียงเสี้ยววินาที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปถึงสถานที่จริงนั้นเลย หากลองย้อนเวลาเปลี่ยนเทียบไปสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในสมัยที่ก่อสร้างนครวัดขึ้น การกระจายข้อมูลข่าวสารให้ผู้คนมาร่วมแรงร่วมใจเพื่อสร้างศาสนสถานคงใช้เวลานาน และใช้ความอดทนอดกั้นสูง บวกกับแรงศรัทธา ความเชื่อ ซึ่งส่งผลให้จิตวิญญาณของคนสมัยยุคก่อนแข็งแกร่งกว่าคนยุคใหม่ เช่นเราๆ ท่านๆ ถึงแม้ยุคสมัยนี้มีการก้าวหน้าระบบสื่อสารไปมาก ทำพวกเราไปได้ไวและเร็วกว่า คนในยุคเก่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการกระจายข่าวเพื่อให้คนทั่วไปทราบนั้นก็ขอเพียงยึดสื่ออินเตอร์เน็ตให้ได้ ก็สามารถใช้กลยุทธกระจายข่าวโดยใช้เครื่องมือ เช่น Yahoo marketing solutions หรือ Google Adwords มาช่วยกระจายข่าวให้ ทำงานแทนนักการตลาดที่ค่าจ้างสูง ก็สามารถกระจายข้อมูลนั้นให้คนทั่วไปรับรู้ได้ แทบยังทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีพัก ไม่มีบ่น เป็นเครื่องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ชั่งเป็นคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ จะหยุดกระจายข่าวก็ต่อเมื่อ เงินในกระเป๋าเราจะหมดเสียก่อน
ในเรื่องที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ ก็สามารถถูกกระจายข่าว และเป็นข่าวดังได้ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่มีคลิปวิดีโอหลุด ไปในโลกของการสื่อสาร ข้อมูลที่ไม่ต้องการให้เผยแพร่ก็ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป คนส่วนใหญ่ที่ยังขาดการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต เพียงทำการบันทึกข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านช่องทาง Webcam ที่ติดอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ ภาพส่วนตัวเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นคนดังระดับประเทศ หรือ เด็ก ป. 3 ก็สามารถเป็นข่าวได้ และไม่นานนักสังคมอินเตอร์เน็ตก็ได้ทำการกระจายข้อมูลแบบคุมไม่อยู่จน ชื่อ คลิปหลุดเหล่านั้นกลายมาเป็น Keyword หลักในการค้นหาผ่านระบบค้นหาทางอินเตอร์เน็ตในเวลาต่อมา (ดูสถิติคำที่ค้นหาได้จาก http://zemog.sran.org) การกระจายข่าวในสื่ออินเตอร์เน็ต นี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่คนยุคนี้ตกเป็นเหยื่อของอำนาจการสื่อสาร ซึ่งด้วยเหตุนี้เองสังคมออนไลท์จึงสังคมที่ควบคุมยากเป็นความจริง ที่ขาดความงดงาม และความดี ตามแนวคิดของเพลโต้ไปโดยปริยาย ..

บทความของคุณเปลวสีเงิน ในบทความชื่อ อะไรคือผู้ทรงอำนาจเปลี่ยนประเทศ ซึ่งจะเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนถึงอำนาจของการสื่อสาร
"ตัวการสำคัญ" ที่จะเปลี่ยนสังคมไทยก็คือ IT = Information and Communication Technologies หรือเรียกกันว่า "เทคโนโลยีการสื่อสาร และการสนเทศ" นั่นแหละ! ระบบ ไอที ที่เรามองข้ามความสำคัญ และนึกไม่ถึงในพลานุภาพเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนโครงสร้างสังคมนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่จะ "เปลี่ยนแปลงประเทศไทย" หรือพูดให้ตรงที่เป็นจริงอยู่แล้วในปัจจุบันคือ "ไอที-เป็นตัวเปลี่ยนโลก" สำหรับประเทศที่หมุนตามโลกแบบ "หลง" โลก

เมื่อก่อนเราเคยได้ยินคำพูดประโยคหนึ่งใช่ไหมว่า "ใครยึดไมค์ได้ เท่ากับยึดประเทศ" นั่นเป็นคำพูดสะท้อนบทบาท-อิทธิพลของสื่อที่มีต่อสังคมชาติในแต่ละยุค-แต่ละ สมัย ยุคก่อนๆ ที่โลกยังไม่มีคอมพิวเตอร์ เราจะเห็นว่าบ้านเราปฏิวัติกันทีไร สิ่งแรกที่ต้องยึดคือ "กรมประชาสัมพันธ์"

ใครยึดกรมประชาสัมพันธ์ คือยึดไมค์ ออกแถลงการณ์ทางวิทยุได้ ก็ถือว่าชนะ ยึดประเทศได้แล้ว!

ทุก วันนี้ เป็นสังคมยุคไอที ถึงยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี ไม่เปลี่ยน แต่รูปแบบเปลี่ยนจากยึดไมค์-กรมประชาสัมพันธ์ ไปเป็นยึดจอ คือยึดสถานีโทรทัศน์ และควบคุมสถานีดาวเทียม

ถ้าไล่เรียงดู จะเห็นชัดว่า "สื่อ" คืออุปกรณ์สำคัญในการยึดประเทศ เปลี่ยนแปลงประเทศ สมัยกบฏ ร.ศ.๑๓๐ การกบฏเพาะเชื้อและแพร่ระบาดจากสื่อหนังสือพิมพ์ เช่น จีนโนสยามวารศํพท์ เป็นต้น การเปลี่ยนการปกครอง ๒๔๗๕ ภารกิจสำคัญที่ "นายควง อภัยวงศ์" ได้รับมอบจากคณะก่อการให้ไปปฏิบัติ คือ

ไปตัดสายตะแล็บแก๊บที่ "ไปรษณีย์กลาง" บางรัก!

ยุค ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา พัฒนามายึด "สถานีโทรทัศน์" เป็นหลักแทนกรมประชาฯ แต่พอมาถึงยุคพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ จะเห็นชัดว่า ไอที เป็นตัวการใหญ่ในการโค่นล้มรัฐบาลสุจินดาขณะนั้น จนเรียกการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นว่า "ม็อบมือถือ" เพราะผู้มาชุมนุมอันเป็นคนชั้นกลางส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร คือโทรศัพท์มือถือประสานงาน และระดมกำลังจนพบความสำเร็จ

พูดไปก็ยาว สรุปถึง ณ ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีสื่อสารทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ "อินเตอร์เน็ต" คือตัวการใหญ่ "ผู้ทรงอิทธิพล" ในการเปลี่ยนแปลง "ทุกรูปแบบ" และ "ทุกระบบ" ในสังคมไทย โดยที่ไม่ว่า "อำนาจไหน" จะใหญ่-จะเล็กอย่างไร ก็มิอาจสกัดกั้นอิทธิพลของไอที-อินเตอรเน็ตในการเปลี่ยนสังคมประเทศครั้งนี้ไปได้

หนังสือ Third wave แปลเป็นไทยว่า คลื่นลูกที่สาม แต่งโดย อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) ได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติโลก ที่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของมนุษยชาติไว้ โดยเปรียบเป็นทฤษฎีคลื่นสามลูก โดยเฉพาะคลื่นลูกที่สามกล่าวได้ถึงอำนาจแห่งการสื่อสารได้เป็นอย่างดี

คลื่นลูกที่สาม (Third Wave) เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ด้วยการปฏิวัติ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งได้เริ่มต้นราวๆ ปี 1955 ด้วย เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายโทรคมนาคม จนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ดังในโลกยุคปัจจุบันที่เรียกกันทั่วไปว่า เป็นคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) หรือการปฏิวัติ “การสื่อสารโทรคมนาคม” หรือยุคโลกาภิวัฒน์ สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศใด ให้มีความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองจะขึ้นอยู่กับการมี “เครือข่าย ทั้งเครือข่ายแท้และเครือข่ายเทียม อาทิเช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เครือข่ายดาวเทียม เครือข่ายใยแก้วนำแสง ถนน สายการบิน รางรถไฟ เป็นต้น ถือเป็นเครือข่ายแท้ในการสร้างความเจริญให้บ้านเมือง เครือข่ายเทียม อาทิเช่น เครือข่ายลูกค้า เครือข่ายการค้าต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายแท้จะช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ครือข่ายเทียมเติ บโตขึ้น ตลอดจนสนับสนุนงานความมั่นคงของชาติให้มีศักยภาพสูงขึ้นโดยรวม กล่าวสรุปคือ “เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูง” ที่มีประสิทธิภาพสูงจะสร้างให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของประเทศในทุกด้าน

จากหนังสือ The World is Flat ก็กล่าวการที่โลกปัจจุบันมีข้อจำกัดต่างๆ มีการผสมรวมกัน (integrate) มากขึ้น อาจเปรียบเทียบได้กับโลกที่ถูกกดให้แบนด้วยแรงต่างๆ ในช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้อธิบายได้เหมือนกันกับ Third Wave แต่ด้วยเวลาทำให้นักพยากรณ์อนาคตศาสตร์ อย่าง อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ได้มองไม่เห็นในสิ่งที่ โทมัส แอล ฟรีดแมน เห็นโดยเฉพาะ

การประสานกัน 3 ประการ (Triple Convergence) ที่เอื้อความสามารถในการแข่งขันให้ปัจเจกบุคคล โดยเกิดจากอำนาจของการสื่อสาร

- การผสานรวมกันของ เทคโนโลยี workflow software และ hardware กระทบสำคัญของ Convergence I นี้คือการเกิดขึ้นของสังคมเศรษฐกิจของโลกไร้พรมแดน ที่มีระบบอินเตอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดการร่วมมือกัน (ทั้งการแบ่งปันความรู้ และการทำงาน) ของปัจเจกบุคคลหลากหลายรูปแบบ ได้ในเวลาเดียวกัน (real time) โดยปราศจากอุปสรรคทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ระยะทาง หรือกระทั่ง (ในอนาคตอันใกล้นี้) ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่า นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจน ประการหนึ่งที่ว่าโลกกำลังแบนลง

- การนำการผสานของเทคโนโลยี มาประยุกต์เข้ากับวิธีการทำงาน ทำให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่เพิ่มผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้น ซึ่งทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี และวิธีการทำงานต่างก็มีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน นั่นคือ วิธีการทำงานใหม่ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการเทคโนโลยีได้มากขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆได้หลากหลายขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าสายการบังคับบัญชา (chain of command) สำหรับการปฏิบัติงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้เปลี่ยนแปลงจากแนวตั้ง ที่เน้นการสั่งการและการควบคุม (command and control) ไปเป็นแนวนอนที่เน้นการร่วมมือกัน (connect and collaborate) มากขึ้น

- การที่ประชากรในประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา และเอเชียกลาง รวม 3 พันล้านคน มีโอกาสร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้ง 3 ประสาน (triple convergence) ร่วมกันแล้วจะพบว่า โลกปัจจุบันมีสิ่งกีดขวาง ในการดำเนินกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมน้อยลง ทำให้ประชากรจากส่วนต่างๆของโลกที่แต่เดิมมีโอกาสน้อยกว่าประชากรของประเทศ อุตสาหกรรมดั้งเดิม มีโอกาสแข่งขันในเวทีโลกมากขึ้น โดยอาศัยกระบวนการ การร่วมมือกันและเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นแรงสำคัญที่มีส่วนกำหนดลักษณะของสังคมเศรษฐกิจของโลก ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับโลกที่เล็กลงและไร้พรมแดนนี้ ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตว่า มีมานานแล้ว คือ อย่างน้อยตั้งแต่ผลงานของ Karl Marx and Friederich Engels ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Communist Manifesto ในปี 1848 ผลงานดังกล่าว แม้จะมีความแตกต่างจากความเห็นของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อยู่บ้าง แต่ก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น การกล่าวถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีและเงินทุน ที่สามารถทำลาย สิ่งกีดขวาง พรมแดน ความขัดข้องต่างๆ ของระบบการค้าในระดับโลกโดยรวม

รายละเอียดอ่านได้เพิ่มเติมที่

http://nontawattalk.blogspot.com/2008/05/blog-post.html

http://nontawattalk.blogspot.com/2008/05/blog-2.html

เนื่องจากเวลาหนังสือ คลื่นลูกที่สามของอัลวิน ทอฟฟเลอร์ เขียนเมื่อปี 1980 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี Google ไม่มีการขยายตัวสื่อสารอินเตอร์เน็ตเหมือน กับ โทมัน แอล. ฟรีดแมน เขียนเมื่อปี 2004 ซึ่ง ฟรีดแมน ตอนที่เขียน The World is Flat ก็ไม่ทราบได้ว่าในปี 2008 จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้จากการที่โลกย่อส่วนและเชื่อมโยงกันหมด จึงกระทบเป็นลูกโซ่เช่นนี้ ดังนั้น เวลา เป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดไม่ว่าเป็นมนุษย์หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร

อำนาจที่เป็นไปตามเวลา เป็นความเห็นพ้องกันแล้วว่าการสื่อสารคืออำนาจ เมื่อเวลาเป็นแปรหนึ่งแล้ววิวัฒนาการของมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้อยู่เหนือกฏเกณฑ์ธรรมชาติ เปลี่ยนห่วงโซ่ที่แตกสายที่หาปลายทางมิได้การคิดจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งไปยังกลุ่มหนึ่ง (จาก Social Networking พัฒนาเป็น Knowledge Based Society ก้าวเข้าสู่ Post Knowledge Based อ่านรายละเอียดได้ที่ http://nontawattalk.blogspot.com/2008/06/open-to-open.html) ได้เกิดการประยุกต์ขึ้นจนเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้หาคำตอบทางกายภาพได้เกือบหมดแล้ว เรารู้แม้กระทั่งองค์ประกอบภายในของไส้เดือน แม้แต่ลงลึกถึงการถอดรหัสโคโมโซมมนุษย์ หรือขนาดเล็กลงไปจนถึงระดับอะตอม แต่ด้วยการที่มนุษย์มีข้อจำกัดในการรับรู้ คนหนึ่งคนสามารถรับรู้ได้ทั้งหมดไม่ได้ Wikipedia เป็นตัวอย่างที่ดีในการรวบรวมความรู้แบบเปิด ให้คนทั่วทุกมุมโลกได้แก้ไขข้อมูล ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปี Wikipedia กลายเป็น สารานุกรมเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกไปเสียแล้ว ได้ปฏิวัติความจริงที่ว่ากำแพงเมืองจีนจะสามารถสร้างเสร็จได้ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี หรือสร้างเมืองนครธม และ ปราสาทบายน ในกัมพูชาใช้เวลาร่วมร้อยปี การรวบรวมข้อมูลทั่วโลกที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน แบบ wikipedia หรือ youtube ศูนย์รวมคลิปวิดีโอทั่วโลก กลับทำให้ข้อมูลมหาศาลนั้นสามารถค้นคว้าได้ในชั่วชีวิตคนหนึ่งคนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเทคโนโลยี และอำนาจของการสื่อสารนั้น เป็นไปตามความจริง ความงาม และเกิดความดีตามที่เพลโต้กล่าวได้หากเกิดความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคมในเป้าหมายเดียวกัน การมีน้ำใจของชุมชนออนไลท์จะกลายเป็นงาม และความดีต่อไปได้ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นตัวแปร เวลาก็มีเงื่อนไขตามจังหวะชีวิตของแต่ละคน บนขีดจำกัดในการรับรู้ ถึงแม้การใช้ชีวิตของเราดูเหมือนเร็วขึ้น แต่เวลายังคงเดินทางแบบคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และเวลาก็ไม่เคยทิ้งความจริงอันปรากฏที่อยู่เบื้องหน้าของเราล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ

ประกอบสนับสนุนแนวคิดนี้ จาก
หนังสือ บทสารานุกรมโทรคมนาคมไทย
หนังสือ Revolution Wealth
หนังสือ Third wave
หนังสือ The World is Flat
บทความของคุณเปลวสีเงิน
บางส่วนจากพระพุทธทาส เทศนาธรรมะกับวิทยาศาสตร์ ปี 2521
ผ.ศ.สดชื่อ วิบูลยเสข เรื่องเจาะเวลา หาเวลา
การสื่อสารของมนุษย์ ของ อาจารย์มารยาท ประเสริฐ
การเข้าถึงสิ่งสูงสุด ความจริง ความงาม ความดี ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

วันอังคาร, มีนาคม 10

ประวัติการโจมตี XSS


จากที่ทาง www.datasafehouse.net ซึ่งเป็นบริการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์ได้เปิดเผยสถิติเกี่ยวกับเว็บไซต์ในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการโจมตีมีถึง 41 เว็บ (รายละเอียด) ส่วนใหญ่แล้วเป็นช่องโหว่เว็บที่เกิดจากเทคนิคที่เรียกว่า XSS

สืบเนื่องมาจากบทความการโจมตี XSS ตอนที่ 1 ในเว็บ SRAN
ผมจึงขอนำประวัติการโจมตีชนิดนี้มาเล่าสู่กันฟัง
ช่องโหว่ cross-site scripting นับร้อยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในที่นี้จะยกเพียงไม่กี่ตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นภาพของช่องโหว่ชนิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ตัวอย่างของช่องโหว่ชนิด 0 ที่ครั้งหนึ่งพบในหน้าที่ใช้แสดงข้อผิดพลาดของ Bugzilla ซึ่งใช้จาวาสคริปต์เพื่อเขียน URL ปัจจุบันผ่านทางตัวแปร document.location ไปยังหน้านั้นโดยไม่มีการแปลงหรือกรองข้อมูล ในกรณีนี้ผู้โจมตีที่สามารถควบคุม URL ดังกล่าวอาจสามารถส่งสคริปต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเว็บเบราว์เซอร์ ที่ใช้ด้วย ช่องโหว่นี้ได้รับการแก้ไขโดยการแปลงข้อมูลอักขระพิเศษในสายอักขระ document.location ก่อนที่จะเขียนมันลงในหน้าหน้าดังกล่าว

ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงของช่องโหว่ XSS ชนิด 1 : ช่องโหว่สองประเด็นในเว็บไซต์ Google.com ที่ค้นพบและเผยแพร่โดย Yair Amit ในเดือนธันวาคม คศ. 2005 ช่องโหว่นี้เหล่านี้ยอมให้ผู้โจมตีสามารถปลอมตัวเป็นพนักงานของ Google หรือใช้เพื่อการโจมตีฟิชชิ่ง บทความนี้เผยแพร่วิธีหลบหลีกวิธีการรับมือกับการโจมตี XSS โดยการแปลงข้อมูลเป็นแบบ UTF-7

ช่องโหว่ XSS ชนิดที่ 1 ถูกโจมตีอย่างขบขัน 2 ครั้งด้วยกัน : ในเดือนสิงหาคม คศ. 2006 ผ่านทางข่าวย่อที่กุขึ้นที่อ้างว่าประธานาธิบดีบุชแต่งตั้งให้เด็กชายวัยเก้าขวบเป็นประธานของกระทรวงความปลอดภัยสารสนเทศ มีการทำให้คำอ้างนี้น่าเชื่อถือโดยอ้างถึงลิงค์ข่าวของ cbsnews.com และ www.bbc.co.uk เว็บไซต์ทั้งสองแห่งเคยมีช่องโหว่ XSS ที่แตกต่างกันซึ่งยอมให้ผู้โจมตีสามารถใส่บทความที่ต้องการเข้าไปได้

พบตัวอย่างของช่องโหว่ชนิด 2 ใน Hotmail ในเดือนตุลาคม คศ. 2001 โดย Marc Slemko ช่องโหว่ยอมนี้ยอมให้ผู้โจมตีสามารถขโมยเซสชั่นคุกกี้ของผู้ใช้ Microsoft .NET Passport ได้ การโจมตีช่องโหว่นี้ประกอบด้วยการส่งอีเมลมุ่งร้ายไปยังผู้ใช้ Hotmail อีเมลนี้ประกอบด้วยโค้ดเอชทีเอ็มแอลที่ผิดปกติ โค้ดที่ใช้ในการกลั่นกรองสคริปต์ในไซต์ของ Hotmail ไม่สามารถกำจัดโค้ดเอชทีเอ็มแอลที่ผิดปกตินี้ออกไปได้และอัลกอริทึมที่ใช้ในการวิเคราะห์คำของ Internet Explorer ก็ไม่ขัดข้องที่จะตีความโค้ดมุ่งร้ายนี้ ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงพบปัญหาที่คล้ายคลึงกันหลาย ๆ ประเด็นใน Hotmail และไซต์ของ Passport ในเวลาต่อมาอีกด้วย

Netcraft ประกาศเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน คศ. 2006 ถึงการค้นพบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในเว็บไซต์ของ Paypal ที่กำลังถูกโจมตีเพื่อขโมยหมายเลขบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของผู้ใช้ Paypal Netcraft ได้รับรายงานถึงปัญหาดังกล่าวผ่านทางทูลบาร์ที่ใช้เพื่อป้องกันการโจมตีฟิชชิ่งของพวกเขาเอง หลังจากนั้นไม่นาน Paypal รายงานว่ามีการเปลี่ยนแปลงโค้ดในเว็บไซต์ของ Paypal เพื่อกำจัดช่องโหว่ดังกล่าวออกไป

วันที่ 13 ตุลาคม คศ. 2005 ผู้ที่ใช้ชื่อว่า Samy ได้โจมตีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยใน MySpace ทำให้มี friend request ส่งมายังโปรไฟล์ของผู้สร้างนับล้านครั้ง จัดอยู่ในช่องโหว่ชนิด 2 มันใช้ XMLHttpRequests จำนวนมากเพื่อแพร่กระจายตัวมันเอง

ช่องโหว่ XSS ในซอฟท์แวร์สมุดเยี่ยม Community Architech ค้นพบโดย Susam Pal เมื่อ 19 เมษายน คศ. 2006 ผู้ประสงค์ร้ายอาจสามารถใช้ช่องโหว่นี้เพื่อใส่สคริปต์ที่ต้องการได้ ทำให้บริการเว็บโฮสติ้งจำนวนมากซึ่งใช้ซอฟท์แวร์สมุดเยี่ยมดังกล่าวจึงอาจถูกโจมตีโดยใช้ช่องโหว่นี้ได้

วันที่ 8 พฤศจิกายน คศ. 2006 Rajesh Sethumadhavan ค้นพบช่องโหว่ชนิด 2 ในเว็บไซต์ social network ที่ชื่อว่า Orkut ซึ่งอาจยอมให้สมาชิกของเว็บไซต์ดังกล่าวสามารถใส่โค้ดเอชทีเอ็มแอลและจาวาสคริปต์ในโปรไฟล์ของพวกเขาได้ Rodrigo Lacerda ใช้ช่องโหว่นี้เพื่อสร้างสคริปต์ที่ใช้เพื่อขโมยคุกกี้ที่เรียกว่า Orkut Cookie Exploit ซึ่งถูกใส่เข้าไปในโปรไฟล์ Orkut ของสมาชิกที่ประสงค์ร้าย เพียงแต่เปิดดูโปรไฟล์เหล่านี้ ก็จะทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อถูกส่งไปยังแอคเคาท์ปลอมของผู้โจมตี วันที่ 12 ธันวาคม Orkut ได้แก้ช่องโหว่นี้แล้ว

ข้อมูลจากป้อม Infosec

ข้อมูลเสริม
สถิติภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในประเทศไทย http://zemog.sran.org
สถิติเว็บไซต์ในประเทศไทยที่มีความเสี่ยง http://www.datasafehouse.net/xssthai.php
รูปนำมาแสดงในเว็บจาก http://www.techmynd.com/tag/antivirus/

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman